นอกเหนือไปจากการสร้าง "ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(Gross National Product : GNP)" ที่ผ่านมาทั่วโลกได้หันมาให้สำคัญต่อ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" (Gross National Happiness : GNH)" กันมากขึ้น
โดยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า "ความสุขอันยั่งยืน" ไม่ได้มาจากความเจริญทางวัตถุเพียงด้านเดียว แต่พึงอยู่บนพื้นฐานของความเจริญทางด้านจิตใจร่วมด้วย
และเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับ "จิตตปัญญา" จะทำให้ไม่ว่าเรื่องใดๆ ที่เป็น "ผงเข้าตา" จะสามารถล้างออกได้ด้วย"หัวใจของความเป็นมนุษย์"
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าที่ผ่านมาทุกพันธกิจของวิทยาเขตฯ ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบของวิทยาเขตฯ และพร้อมเป็นที่พึ่งให้แก่คนในชุมชน
การใช้หลัก GNH ผนวกกับแนวคิดจิตตปัญญา มองปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยใช้ "9 มิติ GNH" ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการศึกษาที่ดี สุขภาวะที่ดี จิตใจที่ดี การใช้เวลาในชีวิตที่เหมาะสม ต้นทุนที่ดีทางวัฒนธรรม การใช้หลักธรรมาภิบาลพลังชุมชน ความเข้มแข็งทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมตลอดจนปัจจัยทางเศรษฐกิจ จะทำให้สามารถมองปัญหาในองค์รวมได้อย่าง "คมชัด" ยิ่งขึ้น
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือชุมชนให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ด้วยองค์ความรู้ที่พร้อมมอบเพื่อนำไปสู่หนทางของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วยปัญญาตลอดเวลาที่ผ่านมา
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดอบรมผู้นำชุมชนโดยรอบวิทยาเขต เพื่อมอบหลัก 9 มิติ ตามแนวคิด เรื่อง "ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH)" พร้อมเสริมทัพด้วยกระบวนการจิตตปัญญานำร่องขยายผลในวงกว้างสู่หนทางแห่งปัญญาในการดำเนินชีวิตด้วยความสุขที่ยั่งยืน วิทยาเขตนครสวรรค์ตั้งใจตอบโจทย์ชุมชนท้องถิ่น
โดยเชิญหน่วยงานโดยรอบวิทยาเขตฯ 4 พื้นที่ ประกอบไปด้วย อบต.เขาทอง และ รพ.สต.เขาทอง อบต.ยางขาว และรพ.สต.ยางขาว อบต.ย่านมัทรี และ รพ.สต.หาดสะแกอบต.เขากะลา และ รพ.สต.สระบัว ใช้เครื่องมือจิตตปัญญาเพื่อมองผ่านการเล่าคุณค่าความภูมิใจในชุมชนตนเอง บอกถึง "สิ่งที่ขาดหาย" และ "อยากเพิ่ม" ในชุมชน แบ่งปันความฝันถึง "ชุมชนที่ดีกว่า" ในอนาคต โดยให้ อบต. และ รพ.สต. แต่ละพื้นที่ได้ร่วมระดมความคิด-วาดฝัน "ชุมชนในฝัน"
โดยอาจารย์โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมสนับสนุนชุมชน สร้างภาพฝันร่วมรับรู้ถึงความภูมิใจของคนทำงานชุมชน ได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริง เกิดคำถาม เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการรับฟัง สู่การมองอย่างรอบด้านเป็นองค์รวมของชีวิต ทั้ง 4 ชุมชน
ย้อนมองความสุขของตนและชุมชนผ่านแว่นตา 'ความสุขมวลรวมประชาชาติ' (The 9 Domain of Gross National Happiness) 1.สุขภาวะทางจิตใจ 2.สุขภาพ 3.การใช้เวลา4.การศึกษา 5.ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม 6.ธรรมาภิบาล7.พลังชุมชน 8.ความเข้มแข็งทางนิเวศสิ่งแวดล้อม และ9.มาตรฐานการครองชีพ ออกมาเป็น GNH spider web ที่มีมุมมองของคนในขุมชน และมุมมองของคนนอกจากอาจารย์วิทยาเขตนครสวรรค์ที่ขยายขอบเขตการเรียนรู้ของทั้งสองฟากฝั่ง เกิดเป็นหัวข้อโครงร่างความร่วมมือพัฒนาความสุขของชุมชน จากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ตัวอย่างเช่น ชุมชนตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ สนใจแนวความคิด "ศูนย์ 3 วัย" ที่ต้องการจะดูแลคนในชุมชนทุกช่วงวัยให้มีความสุข
ชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมเป็นแหล่งชุมชนของ "ชาวมอญอพยพ" ที่ชอบร้องรำทำเพลงเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นที่มาของ"รำชี้บท" หรือ "รำวงเขาทอง" ซึ่งเป็นการร้องและรำโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวโดยแต่งเนื้อและทำนองให้เข้ากับจังหวะโทน แต่มีการแสดงลีลาท่าทางที่ชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะเป็นบทรัก หรือชี้นิ้วไม่พอใจ
และที่พบได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยในประเพณีสงกรานต์ ได้แก่ "การละเล่นจับข้อมือสาว" ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ชายหนุ่มหญิงสาวได้พบปะพูดคุยรู้จักกันด้วยความสุภาพเรียบร้อยในสายตาผู้ใหญ่
ชาวชุมชนตำบลเขาทองต้องการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมดังกล่าว ถือเป็น "รากเหง้า" ของชุมชน ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ "ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนให้เกิดความประทับใจ พร้อมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไปได้ในขณะเดียวกัน
ด้วยพลังของชุมชนที่มีต้นทุนที่ดีทางวัฒนธรรม จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชน และด้วยองค์ความรู้ที่ดีจะยิ่งทำให้ชุมชนสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น และพร้อมเป็น "ต้นแบบ" ขยายผลสู่ปวงชนชาวไทยทั่วประเทศได้ต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ "พี่เลี้ยงนำองค์ความรู้" อันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ห่มชุมชนด้วย "ความสุขมวลรวม" และ "หลักจิตตปัญญา" และก้าวเดินเคียงข้างปวงชนชาวไทยไปด้วยกันจนถึงทุกที่หมายปลายทาง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210