อาการเจ็บหน้าอกเป็นสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ การตรวจ "MRI หัวใจ" เป็นเครื่องมือเพื่อวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่แม่นยำ เทคนิคการตรวจมาตรฐานใช้การฉีดสารทึบแสง gadolinium ซึ่งอาจพบภาวะไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยบางราย ในปัจจุบันมีวิทยาการที่ก้าวหน้าที่ใช้การตรวจเทคนิคnative T1 mapping MRI เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดโดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่สำคัญจากงานวิจัยใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยิ่ง เกาลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การศึกษาเดิมก่อนนี้พบความผิดปกติจากการตรวจnative T1 mapping ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง คือพบค่า native T1 ของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงผิดปกติทำให้เชื่อว่าเทคนิคนี้น่าจะใช้วินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรังได้โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
งานวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ยอดยิ่ง เกาลวณิชย์ ร่วมกับ Duke University ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าค่า native T1 ที่สูงผิดปกติในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง แท้จริงแล้วเกิดจากไขมันในกล้ามเนื้อหัวใจไม่ใช่จากพังผืดของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โดย native T1 mapping ไม่สามารถวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังได้โดยตรง ซึ่งไขมันในกล้ามเนื้อหัวใจนั้นไม่ได้พบในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังทุกราย และไขมันนี้ก็ยังพบในโรคหัวใจอื่นได้ การใช้เทคนิคnative T1 mapping ในการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรังจึงต้องมีความระมัดระวัง โดยผลที่ได้อาจไม่แม่นยำ หากไม่ได้ตรวจโดยการฉีดสารทึบแสง gadolinium คำแนะนำต่างๆของสมาคมแพทย์ที่ตรวจ MRI หัวใจ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แพทย์ทราบข้อจำกัดนี้
งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับ Top 1% ของโลก Journal of American College of Cardiology : Cardiovascular Imaging ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 สร้างความภาคภูมิใจในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" แก่มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณ1,400 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ประมาณปีละ 20,000 ราย ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งวิธีป้องกันโรคทำได้โดยการหมั่นดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องอาหารการออกกำลังกาย และควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น งดสูบบุหรี่และรีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210