นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) เพิ่มเติมในนักเรียนหญิง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป.5) โรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้วางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนหญิงไทยชั้น ป.5 ตามแนวทางที่ สธ.กำหนด ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักการศึกษา กทม.เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองโดยยืนยันว่า นักเรียนหญิงไทย ชั้น ป.5 ที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2562 - 2564 จะได้รับวัคซีนครบทุกรายตามความสมัครใจ ซึ่งจากคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประสิทธิผลของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังสูงอยู่ แม้ว่าจะเว้นระยะห่างของการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปนานกว่าที่กำหนด โดยขณะนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.อยู่ระหว่างสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขออนุมัติจัดสรรวัคซีน
นอกจากนี้ กทม.ยังมีแนวทางรณรงค์เร่งรัดฉีดวัคซีนพื้นฐานแก่ประชาชนในสถานพยาบาลของ กทม. โดยเมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนพื้นฐานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเข้ารับบริการฉีดวัคซีนที่มีอัตราลดต่ำลงของเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี ที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดีของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อเน้นย้ำและกระตุ้นเตือนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาลเยี่ยมบ้าน พยาบาลอนามัยโรงเรียน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เร่งประชาสัมพันธ์ ค้นหา และติดตามกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีนพื้นฐานให้มากและเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หลักการสำคัญคือ ควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 26 ปี