โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) เตรียมเดินหน้าครั้งสำคัญในการส่งแพลตฟอร์มเว็บเบสเกมออนไลน์ "Code Combat" โค้ดดิ้งเกมเพื่อการเรียนรู้ด้าน Coding สู่มือคนไทย และเด็ก 74 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยโซลูชั่นของการศึกษาแห่งอนาคตที่ผสมความสนุกสนาน และกระบวนการเรียนรู้อย่างลงตัว พร้อมจับมือกับ บพค. จัดงาน "CODING ERA" Next Wave of Thailand's Education ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย ในวันที่ 17-18 มี.ค. 66 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งการเรียนรู้ Coding เข้าถึงคนไทยทุกระดับชั้นในวงกว้าง มั่นใจสร้างผู้ใช้ 100,000 คนใน 3 ปีแรก ดันบริษัทเป็น EdTech ที่ครบวงจร พร้อมเข้าสู่ IPO ใน 5 ปี
นายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน ประธานบริหาร บริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) จำกัด เล่าถึงการก่อตั้งบริษัท Coding Education แห่งแรกในประเทศไทย มีจุดเริ่มจากการที่ทำงานเชิงลึกในแวดวงการศึกษามานานกว่า 18 ปี จนถึงจุดที่ตระหนักว่าการถ่ายทอดทักษะความรู้ที่ทำอยู่นั้นไม่เพียงพอในยุคปัจจุบัน ประกอบกับความสนใจด้านเทคโนโลยีและการสอนให้ผู้คนใช้ความคิด-ตรรกะ มากว่าครึ่งชีวิต ได้กลายเป็นแรงจุดประกายให้ค้นหาสิ่งที่เป็นโซลูชั่นแห่งการศึกษาที่ตอบโจทย์ในการสร้างอาชีพแห่งอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม จนได้พบกับแพลตฟอร์มเว็บเบส "Code Combat" โค้ดดิ้งเกม Coding Edutainment เพื่อการเรียนรู้ แนวคิด และภาษาการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Coding) ที่ได้รับการพัฒนาและรับรองจาก American Board for Certification of Teacher Excellence ในประเทศสหรัฐอเมริกา มานานกว่า 9 ปี
"เราเห็นมาตลอดว่า Coding เป็นที่ต้องการและมีตลาดที่ต้องการแรงงานชั้นสูงรองรับ ประกอบกับมีความพยายามผลักดันจากภาคการศึกษามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่ทำให้ Coding ยังไม่ประสบผลสำเร็จได้เท่าที่ควรโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น เกิดจากการที่คนยังตีความว่าความรู้นี้เป็นทักษะที่มีความยาก และซับซ้อน ทำให้ต้องใช้เวลาศึกษานาน ต้องมีใบปริญญารับรอง แต่ในความเป็นจริงเด็กอายุ 6-7 ขวบก็สามารถเรียนการสร้าง Coding ได้ ถ้าเขาได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ ความน่าสนใจของ Code Combat คือตัวเกมถูกสร้างด้วยพื้นฐานของเด็กทุกคนที่ชอบเล่นเกม หลักการของการเล่นนี้คือเราจะสั่งให้ตัวละครของเราขยับไปทางซ้ายหรือขวา ด้วยการเขียนคำสั่ง Move Left, Move Right และการใช้คำสั่งอื่น ๆ แทนการใช้ปุ่มลูกศรบนคอนโทรลเพื่อบังคับตัวละคร แปลว่าผู้เล่นจะได้กำกับการเล่นเกมด้วยภาษาของคอมพิวเตอร์ไปในตัว" นายเทพฤทธิ์ กล่าวเสริม
อีกจุดเด่นที่น่าสนใจของเกม Code Combat คือ สามารถเรียนรู้การเล่นเกมได้ด้วยตัวเอง หรือหากมีผู้สอน ผู้เล่นก็จะสามารถเข้าใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเกม Code Combat นั้นมีการเรียนรู้ที่ครอบคลุมรวม 4 ภาษาคือ JavaScript, HTML, Python, C++ ซึ่งนับเป็นความโดดเด่นที่ช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคด้านการเรียนรู้ Coding ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายด้านการเรียนราคาสูง หรือขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ทำได้ยาก รวมถึงระบบถูกออกแบบให้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์มเว็บเบสเกมออนไลน์ ที่เข้าถึงง่ายด้วยอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานเพียงแค่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้รองรับผู้ใช้ได้ในปริมาณมาก โดยในระยะเวลา 9 ปีที่เปิดตัวมา ตัวเกมมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก จุดนี้เองที่ทำให้มั่นใจว่าบริษัทมีศักยภาพมากเพียงพอในการรองรับและเป็นตัวกลางในการสร้างการเรียนรู้ด้านการเขียนโค้ดที่เข้าถึงง่าย และมีประสิทธิภาพแก่ประชากรเด็กจำนวน 74 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)
"การเปิดบริษัทครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสด้านการเรียนรู้ให้กับเด็กทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทจึงใช้งบประมาณกว่า 60 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์เกม Code Combat ใน 6 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย พร้อมจ่ายค่าดำเนินการทำงานอีกกว่า 40 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งหากเราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมความรู้เรื่อง Coding ไปให้มากที่สุด ทั้งกับเด็กไทย 7-8 ล้านคนหรือเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 74 ล้านคน จำนวนเงินเหล่านี้ถือเป็นตัวเลขที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการซื้อการศึกษาที่มีคุณภาพจริง ๆ นอกจากนี้เราต่างรู้ว่าปัจจุบันผู้ที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์มักอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และมีความสนใจที่จะมาสอนหรือประกอบอาชีพครูน้อยมาก ดังนั้นด้วยการออกแบบคู่มือการเรียนรู้ของเกม Code Combat ที่บอกวิธีการสอนอย่างละเอียด และเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นสไลด์เนื้อหา หรือสคริปต์การสอน จะช่วยให้ครูทุกสาขาวิชาสามารถเป็นครูสอนการ Coding ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถได้" นายเทพฤทธิ์ กล่าวและพูดถึงเป้าหมายที่อยู่นอกเหนือจากเด็กอายุ 7-19 ปี นั่นคือการพัฒนาบุคลากรให้มี Multi Skills และเพิ่มจำนวนครู Coding ในประเทศ
ปัจจุบันบริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) ได้มีการดำเนินการที่หลากหลายเพื่อดำเนินการให้ความรู้ Coding ไปถึงมีคนได้มากที่สุด เช่น การส่งเสริมครูในโครงการครูคืนถิ่น จำนวน 600 คน ได้มาเปิดรับการสอนเรื่อง Coding, การทำวิจัยร่วมกับ ม.ขอนแก่น ให้เด็กตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ได้ทดลองใช้แพตฟอร์ม Code Combat จำนวน 1,000 คน รวมถึงมีการร่วมมือกับภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น ร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเป็นนำแพลตฟอร์มมาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ Coding ในประเทศไทย, การร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวช่วยส่งเสริมการสร้าง Smart City
ล่าสุดได้ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม หรือ บพค. ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการนำแพลตฟอร์มไปใช้สอนกับนักเรียนนักศึกษาโดยตรง รวมไปถึงการจัดงาน "CODING ERA" Next Wave of Thailand's Education ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย ที่จะจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17-18 มีนาคม 2566 นี้
"งาน CODING ERA ที่เราจัดร่วมกับ บพค. นับเป็นมหกรรมด้านการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน และคนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ Coding รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเกม Code Combat ในวงกว้าง เพื่อผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะ Coding ที่เป็นเทรนด์ของโลกอนาคต อีกทั้งเรายังมีการจัดสิทธิประโยชน์มากมายในงานเพื่อเข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด นอกเหนือจากนี้ งานในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสร้างรายได้ของคนที่สนใจจำนวนมาก จากที่ภายในงานจะเปิดเวทีให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง รวมถึงเนื้อหาถกแนวคิดการใช้ Coding ไปใช้ประกอบการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ โดยไม่ได้จำกัดที่งานด้านโปรแกรมเมอร์อย่างเดียว เช่น การทำหน้าที่ Code Diligent หรือผู้ตรวจสอบความถูกต้องของโค้ดที่หลาย ๆ องค์กรต้องการ เป็นต้น" นายเทพฤทธิ์ กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้กับ Code Combat สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ทดลองเล่นฟรี 1 เดือน ได้ที่ https://www.codecombat.asia/ และมาสัมผัสกับโซลูชั่นใหม่แห่งอนาคตการศึกษา ได้ในงาน "CODING ERA" Next Wave of Thailand's Education ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2566 นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 19.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย