การคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศในบริบทของการลงทุนและการบริหารธุรกิจตลอดกระบวนการนั้น ไม่เพียงส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ยังแสดงถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ปัจจุบันพบว่าธุรกิจทั่วโลกที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของได้รับโอกาสทางการตลาดผ่านการจัดซื้อจัดจ้างทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ UN Women จัดงาน "ลั่นระฆังเพื่อความเสมอภาค" เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ พร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างเสมอภาค โดยงานวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากล
คุณรินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะสมาชิกสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมจัดงานลั่นระฆังเพื่อสร้างความเท่าเทียมครั้งที่ 9 ร่วมกับพันธมิตรในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในภาคตลาดทุน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ ออกแนวทาง อาทิ การเพิ่มสัดส่วนกรรมการสตรี สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเห็นความสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกภาคส่วน "To Make the Capital Market 'Work' for Everyone""
การปฏิบัติตามหลักปฏิบัติทางธุรกิจที่คำนึงถึงเพศภาวะเป็นส่วนสำคัญของหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่บริษัทต่าง ๆ ควรปฏิบัติตามเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไม่เพียงมีผลต่อการจัดการเชิงกลยุทธ์ของบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทสามารถมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุนและผู้กำหนดนโยบาย สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ความหลากหลาย การมีส่วนร่วมของสตรีในบทบาทของคณะกรรมการ รวมทั้งสนับสนุนหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (WEPs) ของ UN Women
ภายในงานผู้เข้าร่วมต่างยกย่อง WEPs ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มร่วมกันระหว่าง UN Global Compact และ UN Women หลักการ WEPs ประกอบด้วยหลักการ 7 ข้อ และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจ เพื่อสร้างสถานที่ทำงาน ตลาด และชุมชนที่มีความเสมอภาคทางเพศ
คุณจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ก.ล.ต. สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้าสู่กระบวนการธุรกิจ ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมิติด้านสังคมซึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมาย SDG 5 ด้านความเท่าเทียมทางเพศ
ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับ UN Women ในการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการ WEPs ไปปรับใช้ในกระบวนการธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจดทะเบียนลงนามเข้าร่วมเป็น WEPs Signatory เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศและผลการปฏิบัติของหลายองค์กร จนเป็นที่ประจักษ์และได้รับรางวัล Thailand WEPs Awards"
ภายในงานเปิดเผยว่านอกเหนือจากการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศระดับผู้นำองค์กร และการออกแบบนโยบายสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อคนทุกเพศ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยแล้ว บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยยังสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นผ่านการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการอย่างเท่าเทียมจากทั้งผู้ประกอบการทุกเพศในสัดส่วนที่เหมาะสม นวัตกรรมนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของภาคเศรษฐกิจไทยไปสู่ความเสมอภาคและยั่งยืน เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างเท่าเทียม แต่บริษัทจดทะเบียนเองก็จะได้ค้นพบซัพพลายเออร์ที่หลากหลายมากขึ้น
รัฐบาลออสเตรเลียเล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าวว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ฟื้นตัวหลังจากภาวะโรคระบาดได้ อีกทั้งนวัตกรรมนี้ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโครงการความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลีย (Mekong-Australia Partnership) ในการสร้างมาตรฐานทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เปิดกว้าง ครอบคลุม ปลอดภัย และมั่นคง "การสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศเป็นแกนกลางสำคัญของการทำงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของออสเตรเลีย และเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาและความมั่นคงของภูมิภาค" ดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าว
เพื่อยกระดับตลาดในประเทศไทย โครงการ WE RISE Together ของ UN Women มีเป้าหมายที่จะพลิกโฉมระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและเอกชน และให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่ธุรกิจและองค์กรที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ รวมถึงธุรกิจของผู้ที่ยังขาดโอกาสให้สามารถเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างยุติธรรม
"งานในวันนี้ทำให้ดิฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าภารกิจที่เราทำร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจจะช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ WEPs และดิฉันอยากจะขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนทุกคนให้มาร่วมสร้างโลกธุรกิจที่ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเสมอภาคพร้อมกัน โดยคุณสามารถเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมซัพพลายเออร์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรือการพัฒนากลไกตลาดเพื่อเปิดโอกาสทางการตลาดผ่านการจัดซื้อจัดจ้างให้ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอขายสินค้าและบริการอย่างได้ยุติธรรม" คุณซาร่าห์ นิบส์ รักษาการผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าว
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน "Ring the Bell for Gender Equality 2023" ในประเทศไทย คุณสามารถชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/events/1249624395923568