นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายเจมส์ แอล เวย์แมน (Mr.Jame L.Wayman) ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือประเด็นสถานการณ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในการขจัดการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ และแรงงานเด็ก โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วยณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายบุญชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานบูรณาการ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้ประสานงานหลักกับแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานมีเอกภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายยกระดับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 และต้องการยกระดับให้อยู่ในระดับเทียร์ 1 ภายในปี 2566
นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการป้องและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในแรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานภาคประมง อาทิดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในรายงานต่างด้าวตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรอง (SOP) ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ จัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กรมการจัดหางาน เพื่อดำเนินการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสถานประกอบกิจการทั้งด้านสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงาน เฝ้าระวังผู้มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานที่ต่างประเทศ ตรวจคัดกรองลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน การทำงาน แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย นำเข้าและจัดส่งแรงงานตามระบบเอ็มโอยู เป็นต้น
"กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการช่วยเหลือคุ้มครอง ป้องกัน และแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ มีความยินดีที่จะร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน(NGO) ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป" นายบุญชอบ กล่าวท้ายสุด