บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ ("GFC") จ่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เดินหน้ายื่นไฟลิ่งสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกาศตอกย้ำหนึ่งในผู้ให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มี บุตรยาก เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมแต่งตั้ง"แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์" เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ("GFC") ผู้นำให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจบริการ ทั้งนี้ "GFC" ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากแบบครบวงจรรายแรก ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ที่ใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการขยายสาขาใหม่ที่สุวรรณภูมิ-พระราม9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่น ๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยากในอนาคต เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีบุตรยากที่จะเข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัท ทั้งกลุ่มผู้มีบุตรยากชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติ นอกจากนี้ คลินิกสาขาใหม่ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อเพิ่มจำนวนนักเทคนิคการแพทย์ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของกลุ่ม "GFC"
ปัจจุบัน "GFC" มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ภายใต้การดำเนินธุรกิจผ่าน 2 บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% ได้แก่ 1). บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด ("GSM") ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS ) โดยบริษัทดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการย้ายที่ตั้งสำนักงานไปอยู่ที่คลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับปรุงอาคาร เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ และขยายพื้นที่การให้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้ การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS) จะสามารถให้บริการได้ตามปกติภายใต้ GFC แทน และ 2). บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด ("GFCFG") เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้น เพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
โดยธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1). การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 3). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) 4). การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS) และ 5) การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ ที่สนใจอยากมีบุตร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ "GFC" กล่าวเพิ่มว่า ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ดีที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม และด้วยศักยภาพจุดแข็งทางธุรกิจ ยิ่งแสดงถึงความสำเร็จของ"GFC" ที่จะก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จากความทุ่มเทในการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจใน 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 ถึงปี 2564 และงวดเก้าเดือนปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 240.97 ล้านบาท 214.43 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 198.39 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯจะสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิปี 2562 ถึงปี 2564 และงวดเก้าเดือนปี 2565 เท่ากับ 81.94 ล้านบาท 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท และ 48.46 ล้านบาท ตามลำดับ
"ปี 2563 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการลดลง เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดเมือง (Lockdown) และภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ผู้มีบุตรยากตัดสินใจชะลอการมีบุตร แต่หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยทยอยฟื้นตัว ทำให้ผู้มีบุตรยากเริ่มตัดสินใจมีบุตรอีกครั้ง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีจำนวนคนไข้เข้ามารับบริการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่กลับมาในช่วงปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงงวดเก้าเดือนปี 2565 ที่ผ่านมา"
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "GFC" ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2560 ถึงพ.ศ. 2569) ของภาครัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) จะยิ่งส่งผลกระทบเชิงบวกและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท "GFC" จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากรวมถึงชาวต่างชาติในอนาคต