เจ็บท้องเตือน เจ็บท้องคลอด ต่างกันอย่างไร?
ตามธรรมชาติแล้วร่างกายคุณแม่มีการเตรียมตัวพร้อมคลอดมาเป็นเดือน หากมีอาการต่อไปนี้แสดงว่าลูกน้อยใกล้ออกมาลืมตาดูโลกเต็มทีและมักจะคลอดภายใน 1-4 สัปดาห์
ทารกกลับหัว หมายถึง ศีรษะของลูกเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานคุณแม่ เตรียมพร้อมที่จะคลอด คุณแม่จะสังเกตได้ว่าความสูงของยอดมดลูกลดลง รู้สึกโล่งสบาย หายใจสะดวกขึ้น หรือที่เรียกกันว่า "ท้องลด" แต่มักจะปัสสาวะบ่อย เพราะศีรษะลูกกดเบียดกระเพาะปัสสาวะคุณแม่ หากมีอาการนี้ในท้องแรกจะคลอดภายใน 1 เดือน ส่วนท้องหลังจะคลอดภายในไม่กี่วัน
เจ็บเตือน มดลูกจะเริ่มบีบตัว ทำให้ท้องแข็งเกร็ง แต่ยังไม่เป็นจังหวะที่แน่นอน การเจ็บเตือนนี้มักเริ่มตอนตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน เพื่อเตรียมปากมดลูกให้บางลง พร้อมที่จะเปิด
มีมูกปนเลือด เมื่อใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิด มูกที่อุดปากมดลูกอยู่จะหลุดออกมาพร้อมเลือดจางๆ หากมีอาการเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะปวดท้องคลอดภายใน 1-3 วัน
* วิธีสังเกตอาการ "เจ็บท้องเตือน" และ "เจ็บท้องคลอด"
เนื่องจากในช่วง 1 เดือนก่อนคลอดอาจมีอาการเจ็บท้องเตือน ดังนั้นเมื่อมีอาการเจ็บท้องจึงต้องแยกว่าเป็นอาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องคลอด โดยดูจากอาการดังต่อไปนี้
อาการเจ็บท้องเตือน
- เกิดไม่สม่ำเสมอเป็นๆ หายๆ
- เจ็บห่างๆ เช่น ชั่วโมงละครั้ง
- ความรุนแรงในการปวดไม่มาก
- ปวดท้องน้อย
- ให้ยาแก้ปวด อาการปวดหาย มดลูกหยุดบีบตัว
- ปากมดลูกไม่เปิดขยาย
อาการเจ็บท้องคลอด
- ปวดสม่ำเสมอ เช่น ปวดทุก 10 นาที
- เจ็บถี่ขึ้น เช่น จากทุก 10 นาที เป็นทุก 5 นาที
- ปวดแรงขึ้นเรื่อยๆ
- ปวดยอดมดลูกและแผ่นหลัง
- อาการปวดลดลง แต่มดลูกยังคงบีบตัว
- ปากมดลูกเปิดขยาย
โดยทั่วไปการเจ็บท้องคลอดจริงใช้เวลา 8-12 ชั่วโมงกว่าปากมดลูกจะเปิดขยาย แต่หากมีอาการเจ็บท้องคลอดดังต่อไปนี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
- มีอาการปวดมาก ปวดถี่ทุก 5 นาที
- มีถุงน้ำคร่ำแตก
- มีเลือดออกไม่ว่าจะมากหรือน้อย
- ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อย
- มีไข้ หรือหนาวสั่น