วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนไทยสะท้อนได้จาก "วัฒนธรรมการกินหมาก" ที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยตั้งแต่สมัยโบราณบ่งบอกถึง "ระดับฐานะทางเศรษฐกิจ" และเป็นที่มาของสำนวนไทยที่ว่า"ข้าวยากหมากแพง"
แม้ในเวลาต่อมาได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการกินหมากเป็นปัญหาสำคัญของการเกิดโรคในช่องปาก จากการทำให้เกิดการระคายเคืองของสาร "แทนนิน" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลหมากมีรสฝาด จึงได้ทำให้มีการประกาศห้ามกินหมากและค้าขายหมากอย่างเข้มงวดจริงจังในสมัยหนึ่ง แต่ด้วยการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อีกเช่นกันในปัจจุบันได้ทำให้หมากกลับมามีแนวโน้มในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง รวมทั้งการสร้างความหมายต่อ "โลกสีเขียว"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สำอางค์ ศุภฤกษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ผู้ค้นพบว่าสารสกัด"แทนนิน" จากผลหมากสามารถนำไปต่อยอดใช้เป็นสารรีเอเจนต์สำหรับการวิเคราะห์สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและได้รับการอ้างอิงไปทั่วโลก (ติดตามได้ทางhttps://pubs.rsc.org/en/content/articlehtml/2022/ra/d2ra03870f และ https://link.springer.com/article/10.1134/S1061934822100148)
ด้วยเทคนิค "Flow-based Analysis" ที่ใช้ในการทดลองเพื่อศึกษาการเกิดปฏิกิริยาต่อสารปนเปื้อนในน้ำ พบว่าสารสกัด "แทนนิน" จากผลหมากสามารถใช้เป็นสารรีเอเจนท์ทำปฏิกิริยากับ "ไนไตรท์" หรือดินประสิว ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งธาตุเหล็กในน้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้วิธีการตรวจค่าการดูดกลืนแสงของสารเคมี(Spectrophotometry) ซึ่งแสดงความแปรผันโดยตรงต่อระดับความเข้มข้นของสารไนไตรต์และเหล็กที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การนำสารสกัด "แทนนิน" จากหมากมาทำปฏิกิริยากับเหล็กในห้องปฏิบัติการยังสามารถนำไปสู่การค้นพบสารรีเอเจนต์ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดสร้างเป็น "ยาใหม่" ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย
แม้หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นหลักสูตรใหม่ที่จัดตั้งได้เพียงปีเศษ นับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา แต่ก็สามารถทำให้ชุมชนห่างไกลได้เกิดความตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อการเฝ้าระวังภัยของโรคอุบัติใหม่ได้ต่อไป
จากการลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี และชี้ให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าของพืชที่อยู่ใกล้ตัว โดยนอกจากผลหมากแล้ว ผู้วิจัยยังได้มองหาพืชชนิดอื่นๆ ในท้องถิ่นมาทำวิจัยเพื่อประโยชน์ในการใช้ดูดซับสารพิษอื่นๆ ต่อไป โดยหวังใช้องค์ความรู้ทางด้านเคมีเพื่อต่อลมหายใจสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ช่วยลดปัญหา "ข้าวยากหมากแพง" ให้กับประเทศชาติต่อไปได้ด้วยในขณะเดียวกัน