มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มุ่งสู่การเป็น "Smart Campus" เดินหน้าจัดโครงการ DPU Hackathon เฟ้นหาสุดยอดทีมนักศึกษาที่มีไอเดียธุรกิจสุดเจ๋ง สร้างสรรค์สินค้า-บริการที่ใช่ ตอบโจทย์ความท้าทายของโลกยุคใหม่ ชูแนวคิด "Smart Idea with SDGs" ระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาติวเข้มนักศึกษา เติมเต็มองค์ความรู้ เพิ่มประสบการณ์และทักษะจำเป็น พร้อมสานต่อไอเดียธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และก้าวสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU กล่าวถึงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็น "Smart Campus" ว่า DPU มีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีศักยภาพพร้อมที่จะก้าวไปกับโลกยุคใหม่
ดังนั้น โครงการ DPU Hackathon โดยฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมให้นักศึกษามีเวทีฝึกฝนและพัฒนาทักษะดังกล่าว พร้อมทั้งได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง ซึ่งโครงการฯ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Smart Idea for SDGs" เพราะต้องการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมของนักศึกษาไปในทิศทางเดียวกับการขับเคลื่อนประเทศไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลก
ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน ในฐานะหัวหน้าโครงการ DPU Hackathon กล่าวถึง โครงการฯ ในปีนี้ว่า มีนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมประชันไอเดีย 18 ทีม แต่ละทีมมีการรวมกลุ่มจากหลายวิทยาลัย/คณะ และชั้นปี เช่น วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) และคณะนิเทศศาสตร์ เป็นต้น โดยมีโครงงานหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และเป็นสินค้า โดยกิจกรรมในโครงการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 15 มีนาคม 2566 ตลอด 2 วันเต็ม เป็นการระดมสมองและเติมเต็มองค์ความรู้ พร้อมให้คำปรึกษากับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
ภายในงานยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงงานของนักศึกษา รวมทั้งบอกเล่าประสบการณ์และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เริ่มจาก คุณวิภาวี กิตติเธียร CEO Satarana เครือข่ายของธุรกิจเพื่อสังคม คุณเด่นพิพัฒน์ ใจตรง Founder Airportels บริการรับฝาก-ส่งกระเป๋าสัมภาระไปยังจุดหมายปลายทาง และคุณศุภิสรา ธีระชีพ Founder Pure Scoop Ice-cream ไอศครีมโฮมเมดที่ลูกค้าออกแบบแพ็กเกจจิ้งได้ด้วยตัวเอง บรรยายในหัวข้อ "Smart Business Idea" อาจารย์นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดี สายงานวิชาการ DPU และอาจารย์จักรเพชร์ เจริญวิไลสุข กูรู Startup บรรยายในหัวข้อ "Design Thinking, Lean Canvas and Strategies to BNC" และปิดท้ายโดย คุณธีรุตม์ วรรณฤมล จาก La moon - Cold Brew Coffee และคุณฐาปกรณ์ จำปาได ให้ความรู้ในหัวข้อ "Financial and Pitching Like Pro"
"เมื่อแต่ละทีมได้ฟังบรรยายและคำแนะนำต่างๆ พร้อมนำไปปรับปรุงโครงงานแล้ว จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินซึ่งมีเกณฑ์ในภาพรวม ได้แก่ 1. ไอเดีย "Wow" หรือไม่ 2. กลุ่มลูกค้าเป้าหมายต้องชัดเจน 3. ช่องว่างและมูลค่าทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นจากโครงงาน 4. การทำงานเป็นทีม และ 5. ความน่าสนใจของวิธีการนำเสนอ รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมที่ต้องพิจารณา เพื่อค้นหาทีมที่มีความสามารถในการพัฒนาต่อยอด และพร้อมสำหรับการแข่งขันภายนอกมหาวิทยาลัย" ผศ.ไพรินทร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
สำหรับรางวัลจากโครงการ DPU Hackathon ครั้งนี้มีทั้งหมด 7 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ทีม Noppathon โครงงาน "Woranong Plus" ผลิตภัณฑ์เทียนหอมเพื่อสุขภาพที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดระนอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Eva- Go โครงงาน "Eva- Go" แบตเตอรี่โซเดียมไอออน นวัตกรรมด้านพลังงาน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมกลุ่มก้อน โครงงาน "Trawell Tour" บริการจัดแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ Adventure ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ภายใต้สโลแกน "เที่ยวประสบการณ์ใหม่ ผจญภัยแอดเวนเจอร์" นอกจากนี้ ยังมีรางวัลขวัญใจเมนเทอร์ 4 รางวัล ที่คัดเลือกจากความโดดเด่นในศักยภาพด้านต่างๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี และด้านการตลาด
นายจักรเพชร์ เจริญวิไลสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทุกทีมจะต้องระลึกเสมอ คือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ ทุกทีมจะต้องพร้อมปรับเปลี่ยนและไม่หยุดอยู่กับไอเดียตั้งต้น ส่วนทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนรู้และพัฒนาไม่ได้ใช้กับการเป็นผู้ประกอบการเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้กับอาชีพต่างๆ ได้มากมาย ทั้งนี้ ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศมีจุดเด่นอยู่ที่สินค้ามีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และมีแนวทางต่อยอดด้วยการขึ้นทะเบียน GI เครื่องหมายสินค้าที่เป็นตัวแทนของจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการทำสินค้าจริงๆ ออกมาให้ได้ลอง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทบทวน ปรับปรุง พัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อผลักดันสินค้าต่อไป
นายวรกร คงตุก นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ตัวแทนทีม Noppathon ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้ประโยชน์มากมาย เป็นประสบการณ์ที่ดีและมีคุณค่ามาก ทั้งจากการฟังผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และทีมอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการทำให้ได้รู้วิธีแก้ปัญหา รวมทั้งเห็นมุมมองและทิศทางใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้พัฒนาและเพิ่มแนวทางในการต่อยอดโครงงาน เช่น การพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศ โดยการสร้าง Smart Product ที่จะตอบโจทย์ Smart City ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องเทคโนโลยี ฯลฯ และการวางแผนการตลาดให้รอบคอบยิ่งขึ้น เป็นต้น เพราะแม้ว่าจะได้รางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ แต่ยังมีจุดที่ต้องคิดและทำให้ดีกว่าเดิมขึ้นไปอีก เพื่อให้ไอเดียที่มีเกิดเป็นจริงและมีโอกาสสำเร็จมากที่สุด