กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กทม.
กทม. สร้างประติมากรรมกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่สวนลุมพินีและสวนหลวง ร.๙ ให้ประชาชนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย พร้อมติดตั้งเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำในสวนสาธารณะอีก 80 เครื่อง คาดแล้วเสร็จ ต.ค. 51
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดประติมากรรมกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณด้านในสวนลุมพินี หลังพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 พร้อมเปิดเดินเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาบริเวณสระน้ำภายในสวนลุมพินี โดยมี รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์ บุญญภัทโร ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมชลประทาน ดำเนินโครงการ “สร้างกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษา 80 พรรษา” ประกอบด้วยการก่อสร้างประติมากรรมกังหันน้ำชัยพัฒนา ด้วยวัสดุทองเหลืองกัดกรด ขนาดเท่าของจริง ติดตั้งบนฐานทำด้วยวัสดุแกรนิต มีข้อความจารึกบอกประวัติความเป็นมา 4 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ จีนกลาง และฝรั่งเศส ติดตั้งที่สวนลุมพินี และสวนหลวง ร.๙ นอกจากนั้นยังติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อเติมอากาศให้แหล่งน้ำในสวนสาธารณะและสถานที่ต่างๆ อีก 80 เครื่อง คือ บริเวณสระน้ำภายในสวนลุมพินี 17 เครื่อง สวนพระนคร 5 เครื่อง สวนเสรีไทย 9 เครื่อง สวนธนบุรีรมย์ 7 เครื่อง สวนหลวง ร.๙ 20 เครื่อง สวนจตุจักร 7 เครื่อง สวนวชิรเบญจทัศ 13 เครื่อง และภายในสำนักงานเขตสะพานสูง 2 เครื่อง จะทยอยติดตั้งทั้งหมดเสร็จในเดือน ต.ค. 51 โดยกังหันน้ำดังกล่าวเป็นแบบ 2 แรงม้า แต่ละเครื่องสามารถสร้างออกซิเจได 1.8 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยใช้หลักการเติมอากาศ ออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ สามารถติดตั้งและเคลื่อนที่ได้ง่าย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ประดิษฐ์ขึ้นมาแบบไทยทำไทยใช้ จากภูมิปัญญาดั้งเดิม เมื่อ 24 ธ.ค. 31 และได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเมื่อ 2 ก.พ. 36 ซึ่งต่อมาได้สถาปนาให้วันที่ 2 ก.พ. ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ไทย ดังนั้นกังหันน้ำชัยพัฒนาจึงนับว่าเป็นผลงานที่ได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและถือเป็นครั้งแรกของโลกด้วย