กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) ดำเนิน "โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย" นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยพี่น้องเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลกในการปลูกเตยหอมให้มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และผลผลิตใบเตยที่ได้มีความหอมที่เป็นเอกลักษณ์
ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการต่อยอดในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่าในรูปผลิตภัณฑ์ "ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า" ในแปลงนาปลูกข้าว โดยใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากเศษเหลือใช้จากการเพาะเห็ดถั่งเช่าของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ คือ นายบัณฑิต ศิริสัมพันธ์ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองพระ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดย วว. ได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการนำเศษการเพาะเห็ดถั่งเช่าแปรรูปเป็นปุ๋ยสำหรับพืชชนิดอื่นๆ เช่น เตยหอม โดยนำใบเตยหอมที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำจากการกลั่นกลิ่นใบเตยภายใต้แบรนด์ "คำยวน" ผลิตโดย บริษัทธนกฤติ เอ็น เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ที่ประกอบธุรกิจการรับซื้อใบเตยหอมจากกลุ่มเกษตรในพื้นที่ และเริ่มขยายพื้นที่ออกไปในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อให้เพียงพอต่อการนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มฯ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัยของ วว. โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ว่า ได้นำร่องดำเนินโครงการ ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาร่วมกับเกษตรกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดฐานความเข้มแข็งเดิมในส่วนผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยรับโจทย์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ปลูกเตยหอมเพื่อจำหน่ายในอุตสาหกรรมอาหาร ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จในการเพิ่มปริมาณผลผลิตการปลูกเตยหอม สามารถตัดใบได้ในปริมาณที่มากกว่าและมีกลิ่นของเตยหอมที่โดดเด่นกว่า พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นเครื่องดื่มน้ำจากการกลั่นกลิ่นใบเตย ทั้งนี้จากการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกับผู้บริโภคพบว่า มีความพึงพอใจกับรสชาติและสนับสนุนให้ผลิตจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการต่อไป
"... วว. มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการเข้าไปช่วยส่งเสริม สนับสนุน เศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เข้าไปรับโจทย์ และตอบโจทย์ ร่วมแก้ปัญหาเคียงข้างพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า จากการปลูกใบเตยที่ใช้ปุ๋ยจากเศษถั่งเช่าภายใต้การดำเนินงานของ วว. ได้ผลผลิตที่มีความโดดเด่นคือ มีกลิ่นเฉพาะ มีเอกลักษณ์จากกลิ่นใบเตยธรรมชาติ ด้วยนวัตกรรมการผลิตน้ำดื่มที่มีความเฉพาะ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี ซึ่งโครงการฯ สนับสนุนการทดสอบวิเคราะห์วัตถุดิบและทดสอบในขั้นตอนการผลิต เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน รวมถึงวิเคราะห์ทดสอบตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท พร้อมเพิ่มมูลค่าหาสารสำคัญจากใบเตย จัดทำฉลากโภชนาการ เพื่อขอการรับรองมาตรฐาน อย. นับเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม
นางสุภาพร จิรไกรโกศล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยา ศทม. วว. ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ กล่าวถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ วว. นำไปตอบโจทย์ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการว่า ในการดำเนินโครงการฯ วว.ให้การสนับสนุนด้านการวิเคราะห์ทดสอบทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ เป็นการสร้างช่องทางการแข่งขันทางการตลาด เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการ นอกจากนี้จะมีการดำเนินการด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากพืชชนิดอื่นๆ เพื่อต่อยอดโครงการให้เข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีแผนการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. มุ่งบริการตรวจวัดและสอบเทียบเครื่องมือวัด เครื่องทดสอบปริมาณทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เสียง แสง อุณหภูมิ ความชื้นและปริมาณทางกล รวมทั้งสอบเทียบเครื่องมือวิเคราะห์ทางเคมี บริการทดสอบและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบเพื่อการส่งออก การขอขึ้นทะเบียนอาหารและยา การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) บริการทดสอบสมบัติทางกลทั้งแบบทำลายและไม่ทำลาย สมบัติทางแสงและอุณหภูมิ สมบัติทางไฟฟ้า ความปลอดภัยด้านอัคคีภัยของวัสดุและผลิตภัณฑ์ต่างๆ บริการวิเคราะห์ทางเคมี ชีวเคมี จุลชีววิทยา สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหาร น้ำ แร่ สี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเครื่องสำอาง เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดและรับบริการจาก วว. ติดต่อได้ที่ "วว. JUMP" https://tistrservices.tistr.or.th/ หรือที่โทร. 0 2577 9000, 0 2323 1672-80 (ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา) โทรสาร 0 2323 9165 อีเมล nitchakul@tistr.or.th