นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน ควรดำเนินการในช่วงต้นฤดูฝน จึงจะมีอัตราการรอดสูงและไม่ควรปลูกขณะน้ำขึ้นว่า กทม.ได้จัดกิจกรรม "เพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน" ซึ่งเป็นการปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ในระดับน้ำที่สูงและปลูกในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากการปลูกต้นกล้าโกงกางใช้เกณฑ์การขึ้นลงของน้ำทะเล โดยพิจารณาระดับน้ำที่มีความปลอดภัยต่อการลงปลูกของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ
ดังนั้น จึงสามารถปลูกได้ทุกฤดู โดยแปลงปลูกที่ใช้จัดกิจกรรมฯ เป็นแปลงปลูกที่ได้รับผลกระทบจากความแรงของคลื่นทะเล จึงต้องใช้ท่อซีเมนต์ ขนาดกว้าง 6 นิ้ว สูง 1 - 3 เมตร เป็นตัวช่วยยกระดับต้นกล้าให้พ้นน้ำ เลียนแบบการปลูกตามธรรมชาติริมชายฝั่งที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงของทะเล ซึ่งทำให้ต้นกล้าไม่จมน้ำเป็นเวลานาน มีระยะการเพาะเลี้ยงให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงจนเจริญเติบโตสามารถออกรากอากาศรอหยั่งลงดินเองตามธรรมชาติ มีอัตราการรอดร้อยละ 80 และใช้ช่วยชะลอคลื่น นอกจากนี้ การปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ ยังสร้างเกราะป้องกันให้ต้นกล้าโกงกางสามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระดับน้ำที่มีความเหมาะสมคือ ตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไป เพราะต้องใช้แผ่นโฟมขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลำเลียงท่อซีเมนต์ ซึ่งมีน้ำหนักมาก ลำเลียงไม้หลักค้ำพยุงกับต้นกล้าที่ใช้ในการปลูก รวมถึงช่วยทุ่นแรงพยุงตัวของคนปลูกให้มีความคล่องตัวสามารถปักลงดินได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้แรงมากเกินไป จึงแตกต่างจากการปลูกลงดินตามปกติที่ต้องให้ระดับน้ำลดลงต่ำจนเห็นพื้นดิน เพื่อปลูกลงดินเหมือนการปลูกต้นไม้ทั่วไป
ทั้งนี้ สำนักงานเขตบางขุนเทียนมีแผนงานกำหนดใช้ท่อซีเมนต์ในแปลงปลูกหน้าทะเลให้เต็มพื้นที่ และได้กำหนดแผนการดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเติมดินเลนและการเปลี่ยนไม้หลักค้ำพยุง โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนท่อซีเมนต์มาแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 61 หน่วยงาน รวม 25,589 ท่อ