พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีทางเลือกในการบริหารจัดการเงินอยู่หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินยังคงเป็นช่องทางการออมที่เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยที่สุด เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงิน ได้เข้าใจถึงสิทธิของตนเองในการได้รับความคุ้มครองเงินฝาก วันนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA จะพาไปอินไซด์เรื่องราวของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝาก ว่าครอบคลุมเงินฝากประเภทใดบ้าง สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครอง รวมถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการคืนเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน และเป็นประโยชน์ในการเตรียมพร้อมรับมือ หากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นในอนาคต
รู้จัก พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ฝากเงินอย่างมั่นใจ
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายความมั่นคงทางการเงิน ร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน ว่าจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก และได้รับเงินฝากคืนภายในวงเงินที่กำหนดอย่างรวดเร็ว กรณีที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากรายย่อยที่เป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ และบรรเทาความตื่นตระหนกไม่ให้ผู้ฝากพากันไปแห่ถอนเงิน ดังเช่นเหตุการณ์ในอดีตอย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง
ไขข้อข้องใจ กับวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวงเงินที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยจะมีผลเมื่อสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากสามารถมั่นใจว่าจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากในวงเงินสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยวงเงินคุ้มครองจะนับในลักษณะต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) กรณีที่ผู้ฝากมีหลายบัญชีในสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณทั้งหมด และภายใน 30 วัน หลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต สคฝ. จะจ่ายเงินคุ้มครองผ่านระบบ PromptPay ที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล หากไม่ได้ลงทะเบียน PromptPay จะจ่ายคืนด้วยเช็คไปยังที่อยู่ทะเบียนบ้าน หรือจ่ายคืนด้วยวิธีการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเป็นไปตาม มาตรา 52 และ 53 แห่ง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
เช็คให้ชัวร์! ผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครอง?
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีทางการเงินได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ฝากเงินควรทราบว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง นั่นก็คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ต้องเป็นสกุลเงินบาทและต้องเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน อย่างไรก็ตาม มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF) เงินฝากในสหกรณ์ แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
สถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง
เมื่อทราบแล้วว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครอง ผู้ฝากยังสามารถฝากเงินอย่างมั่นใจ ด้วยการเลือกฝากเงินและดำเนินธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ปัจจุบันสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก มีจำนวนรวมทั้งหมด 32 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 1 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองเงินฝากไม่ได้เพียงมีประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงิน ไปจนถึงการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินด้วย
ปัจจุบันการฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารอาจไม่ใช่ทางเลือกในการลงทุนอันดับต้นๆ เพราะทุกคนมีวัตถุประสงค์ในการออมเงินแตกต่างกันไป ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีทางเลือกในการลงทุนมากมายนอกเหนือจากการฝากเงิน แต่ไม่ว่าจะเลือกลงทุนด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ควรวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ รวมถึงนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับเพื่อประโยชน์สูงสุด
ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองเงินฝาก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก โทร. 1158 เว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dpathailand