กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--กบข.
นางอมฤดา สุวรรณจินดา ผู้ช่วยเลขาธิการสายสมาชิกสัมพันธ์และกิจกรรมสาธารณะ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจภาวะประชากรผู้สูงอายุโลก ประจำปี 2550 ขององค์การสหประชาติ พบว่าในประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 7,187,000 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ11 ของประชากร และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 13,958,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.2 ของประชากร และในปี 2593 จะมีจำนวน 20,702,000 คน หรือร้อยละ 27.8 ของประชากร ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ กบข. ในฐานะที่เป็นสถาบันเงินออมขนาดใหญ่ของประเทศ ได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหาและมีการผลักดันให้สังคมในทุกภาคส่วนหาแนวทางหรือสร้างมาตรการจูงใจในเรื่องการออม เนื่องจากสถิติอัตราการออมที่ค่อนข้างต่ำของคนไทยจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของปัญหาคุณภาพชีวิตหลังวัยเกษียณอายุ
สำหรับปัจจัยหลักที่ผู้สูงอายุบางรายยังคงต้องทำงานต่อเนื่องภายหลังเกษียณ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนเงินออมตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยทำงาน โดยเฉพาะการออมเพื่อการดำรงชีวิตภายหลังเกษียณ ปัจจุบันภาครัฐจึงหันมาเร่งสร้างนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ในลักษณะการออมผ่านกองทุนรวมต่างๆ ผ่านกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ การทำประกันชีวิต หรือการออมกับภาครัฐในรูปแบบกองทุนประกันสังคม หรือการออมระยะยาวผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุได้อยู่อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ผู้ช่วยเลขาธิการ ฯ กล่าวอีกด้วยว่าจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป คนไทยทุกคนจึงควรเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เพราะในอนาคตเราทุกคนก็คือผู้สูงอายุคนหนึ่งในสังคม ดังนั้น หากทุกคนในสังคมต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ จะต้องรู้จักวางแผน เตรียมการ ลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะการเก็บออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตวัยเกษียณได้ด้วยตนเอง