ผลการดำเนินงานของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสแรกของปี 2551

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2008 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ธนาคารนครหลวงไทย
ธนาคารมีความภาคภูมิใจที่การดำเนินงานในด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ผ่านมา กลยุทธ์สำคัญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผนึกพลังของกลุ่มบริษัทในเครือ การพัฒนาบุคลากร การขยายฐานการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วได้มีการสานต่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการของธนาคารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารเป็นที่น่าพอใจ
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินกลยุทธ์การผนึกพลังทางธุรกิจภายใต้แนวคิด “SCIB Family” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่เปิดให้บริการซื้อและขายหลักทรัพย์ในพื้นที่สาขาของธนาคาร เพื่อให้บริการในรูปแบบของ One Stop Service อันเป็นการขยายฐานลูกค้าและใช้เครือข่ายสาขาของธนาคารเป็นช่องทางในการส่งผ่านบริการไปยังลูกค้าเป้าหมาย อีกทั้งช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนไทยด้วยการขยายฐานลูกค้านักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากผู้ฝากเงินของธนาคาร จนถึงปัจจุบันได้เปิดดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 9 สาขา ได้แก่ สาขาจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ศรีราชา นครสวรรค์ พิษณุโลก และแพร่
ด้านธุรกิจจัดการกองทุน หลังจากที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้เข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคาร โดยเข้าถือหุ้นร้อยละ 40 ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนครหลวงไทย จำกัด ได้มีการสานต่อการผนึกพลังร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยปลายปีที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนครหลวงไทยได้ออกจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนธนาวิวัฒน์คุ้มครองเงินต้นเพื่อสมาชิก กบข. ผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคารเป็นกองแรก และเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการ “สวัสดิการธนาคารนครหลวงไทยเพื่อสมาชิก กบข.” เพื่อเสนอบริการทางการเงินพร้อมสิทธิพิเศษเฉพาะให้แก่สมาชิก กบข. ทั้งเงินออมเพื่อการมีบ้าน สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อเคหะ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเน้นย้ำการเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรของธนาคารแล้ว ยังเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าและสร้างรายได้ให้กับธนาคาร
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมกับบริษัทในกลุ่มนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า อาทิ ร่วมกับบริษัทราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง (Smart Car Smart Cash) และสินเชื่อจำนำรถยนต์ ผ่านเครือข่ายสาขาธนาคารทั่วประเทศ และได้เปลี่ยนชื่อบริษัท แมกซ์ประกันชีวิต จำกัด เป็น บริษัทประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด เพื่อตอกย้ำความเป็นบริษัทในกลุ่มของธนาคารนครหลวงไทยที่มีบริการทางการเงินครบวงจรให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ธนาคารได้ดำเนินโครงการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างทั้งด้านทักษะ ความรู้ และความชำนาญ และพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- โครงการต้นน้ำมืออาชีพ ซึ่งเป็นการอบรมด้านการบริหารและการเงิน เพื่อเพิ่มความรู้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับผู้บริหารของธนาคาร ผู้บริหารบริษัทในเครือ และลูกค้า SMEs ของธนาคาร
- โครงการต้นแบบมืออาชีพ เป็นหลักสูตรอบรมด้านความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญให้กับผู้บริหารธนาคารระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป และ
- โครงการต้นฉบับมืออาชีพ ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมการจัดทำแผนธุรกิจให้กับสำนักงานเขต และได้จัดให้มีการประกวดการจัดทำแผนธุรกิจระดับเขตทั่วประเทศภายใต้แคมเปญ “SCIB’s Regional Business Plan Contest” ซึ่งประสบผลเป็นที่น่าพอใจ และมีการประกาศผลทีมที่ชนะเลิศเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา รวมทั้งหลักสูตร “Modern Management Strategy Program for SCIB’s Branch Executive” เพื่อพัฒนาผู้บริหารในระดับผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการสาขา
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดให้มีหลักสูตรการบริหารโครงการให้กับผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารโครงการสำคัญของธนาคาร รวมทั้งหลักสูตรด้านการปฏิบัติงานต่างๆ เช่น หลักสูตรด้านสินเชื่อ ด้านการขาย การเจรจาต่อรอง การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ รวมทั้งหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะอื่นๆ ในการปฏิบัติงานเพิ่มเติม อาทิ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ในด้านการขยายฐานการตลาด ธนาคารได้เพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งของธนาคารและกลุ่มบริษัทในเครือเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยได้มีการจัดทำกิจกรรมทางการตลาด การส่งเสริมการขาย รวมทั้งพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการขยายเครือข่ายการให้บริการ โดยเปิดสาขาเพิ่มเติมในแหล่งชุมชน และติดตั้งเครื่อง ATM เพิ่มขึ้นแล้ว ธนาคารยังได้เปิดทำการศูนย์ธุรกิจต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2 ศูนย์รวมเป็น 6 ศูนย์ รวมทั้งมีแผนจัดตั้งศูนย์ธุรกิจ (Business Center) 4 แห่ง โดยจะทำการเปิดแห่งแรกอย่างเป็นทางการที่ถนนสุรศักดิ์ 1 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทาง Electronic Banking โดยการ upgrade ระบบ Internet Banking ให้สามารถบริการได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยในการใช้บริการ และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น
ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ได้มีการออกบริการต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ บริการเงินฝากออมทรัพย์บุฟเฟต์ทองคำเพื่อสร้างความต่อเนื่องจากปีก่อน บริการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคารผ่าน Internet Banking บริการ SCIB mBanking ซึ่งเป็นบริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ บริการ SCIB Paynet ซึ่งเป็นบริการถอน/โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ใช้บริการ เพื่อชำระค่าสินค้า/บริการที่ลูกค้าได้ทำการซื้อขายผ่าน Web Site สินเชื่อ Home Plus และบริการ “EXIM FLEXI” หรือบริการประกันการส่งออกเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
และที่เป็นความภาคภูมิใจของพนักงานธนาคารนครหลวงไทยทุกคน คือความสำเร็จของโครงการน้ำหนึ่งใจเดียวที่พนักงานได้ช่วยกันระดมเงินฝากรวมกันเป็นจำนวนสูงถึง 9,412 ล้านบาท จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 4,000 ล้านบาท
ความพยายามในการยกระดับคุณภาพในทุกๆ ด้านของธนาคาร ส่งผลต่อความสำเร็จในด้านผลประกอบการทางการเงินเป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ธนาคารได้ใช้นโยบายการกันสำรองฯ แบบเบ็ดเสร็จในไตรมาส 3 ของ ปี 2550 ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 สามารถพลิกฟื้นสู่ภาวะกำไรปกติ และในไตรมาสแรกของปี 2551 นี้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตามงบการเงินรวมมีกำไรสุทธิ 1,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1,129 ล้านบาท ร้อยละ551 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 205 ล้านบาท ขณะที่งบการเงินเฉพาะมีกำไรสุทธิ 1,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,146 ล้านบาท ร้อยละ 1,032 ทั้งนี้ เป็นผลจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น โดยที่ธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับทรงตัว
รายละเอียดผลการดำเนินงานตามงบการเงินเฉพาะของธนาคารมีดังนี้
ผลจากการขยายธุรกิจ ประกอบกับธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนเงินทุนลดลงจากร้อยละ 3.47 ในไตรมาสแรกของปีก่อนเหลือเพียงร้อยละ 2.27 ในไตรมาสแรกของปีนี้ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 74 bps จากร้อยละ 2.61 เป็นร้อยละ 3.35 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มจาก 2,783 ล้านบาท เป็น 3,267 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียม มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นโดยตลอด จากเพียงจำนวน 517 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว เป็น 585 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 และ 634 ล้านบาทในไตรมาสนี้ คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 23 โดยมีอัตราส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.26 ในไตรมาสแรกปี 2550 เป็นร้อยละ 14.37 มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1,145 ล้านบาท โดย
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยดังกล่าวเมื่อรวมกับรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ 3,267 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีรายได้สุทธิ 4,412 ล้านบาท เพิ่มจากงวดเดียวกันของปีก่อน 511 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 13
ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพียง 2,033 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 124 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 6 มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดย Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 46 ทำให้กำไรก่อนการกันสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 2,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 635 ล้านบาท หรือร้อยละ 36 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เมื่อหักด้วยสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ตั้งในไตรมาสนี้จำนวน 570 ล้านบาท สำรองเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้ 88 ล้านบาท และภาษีเงินได้นิติบุคคล 464 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,257 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.59 บาทต่อหุ้น
ด้านฐานะการเงิน ณ สิ้นมีนาคม 2551 ธนาคารมีสินทรัพย์ 410,297 ล้านบาท เป็นเงินให้สินเชื่อ 251,302 ล้านบาท มีเงินฝาก 355,510 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก หรือ Loan to Deposit Ratio เพิ่มจากร้อยละ 59 ในไตรมาสแรกของปีก่อนเป็นร้อยละ 71 ณ สิ้นไตรมาสนี้ มีกำไรสะสม 11,172 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 38,265 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 18.11 บาท เพิ่มขึ้นจากธันวาคม 2550 ซึ่งเท่ากับ 17.08 บาท สินเชื่อเพิ่มสุทธิเท่ากับ 532 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 จากสิ้นปี 2550 ในขณะที่ NPL ต่อสินเชื่อ (Gross) เท่ากับร้อยละ 7.29 และ NPL ต่อสินเชื่อ (Net) เท่ากับร้อยละ 3.52
ธนาคารยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง กล่าวคือ มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 12.90 เป็นเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งร้อยละ 11.81 ขณะที่สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกับค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้ ต่อ NPL (Loan Loss Coverage Ratio) เท่ากับร้อยละ 81
ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในแนวทางที่เป็นอยู่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อยกระดับคุณภาพบริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ให้บริการอย่างครบวงจรและยั่งยืนบนพื้นฐานของความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างธนาคารกับลูกค้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “Right Business Partner for Life”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ