ในงานประกาศผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 เมื่อเร็วๆนี้ จัดโดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานมอบรางวัลแก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี รับมอบ "รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ" (Thailand Quality Class: TQC) ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นับเป็นรางวัลที่แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อมด้านสมรรถนะ และมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ทัดเทียมระดับสากล โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรายแรกที่ได้รับ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) ในครั้งนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก (World Class) และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ทัดเทียมกับระดับมาตรฐานโลก โดยใช้พื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ที่เป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติในหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกระดับขีดความสามารถภาคการศึกษาไทยก้าวสู่ระดับโลก เหตุผลที่ได้รับ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) มาจากการประเมินพิจารณา 7 ด้าน ได้แก่ 1.การนำองค์กร (Leadership) 2.กลยุทธ์ (Strategy) 3.ลูกค้า (Customers) 4.การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management) 5.บุคลากร (Workforce) 6. การปฏิบัติการ (Operations) 7.ผลลัพธ์ (Results)
ในด้านความสำคัญในการขับเคลื่อน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศนั้น ถือเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารองค์กรของเรา ควบคู่กับการยกระดับทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องบริบทโลกและตอบโจทย์กับตลาดแรงงานวันนี้และอนาคต นอกจากนี้ การพัฒนาคุณภาพบุคลากรก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จ จากความมุ่งมั่นของการทำงานเป็นทีม ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และทีมงาน ต่างผนึกกำลังขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย World-Class Engineering โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะก้าวเป็น World-Class University เพื่อร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าของการศึกษาไทยสู่ระดับโลก ด้วยความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้านี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยสร้างเกียรติประวัติเป็นรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานโลกใน 6 หลักสูตร จากคณะกรรมการ ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology แห่งสหรัฐอเมริกา สร้างเสริมโอกาสให้วิศวกรไทยสามารถไปศึกษาต่อ หรือทำงานได้ทั่วโลก