กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (Adirek Sripratak, President & CEO of Charoen Pokphand Foods Public Company Limited) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีหรือจีเอสพี ย้อนหลังตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2548 ให้แก่ประเทศไทยนั้น ก่อให้เกิดการความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในแนวทางที่ดีขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการต่างก็มองเห็นถึงแนวโน้มที่สดใส ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะธุรกิจส่งออกกุ้งเท่านั้นที่มีการขยายตัว แต่ยังรวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่พากันมุ่งเป้าหมายไปยังตลาดอียู โดยจะเห็นได้จากในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคากุ้งในประเทศสูงขึ้นประมาณ 20 %
การที่ภาพรวมสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกุ้งสดใสขึ้นภายหลังอียูคืนสิทธิจีเอสพีเช่นนี้ นายอดิเรกกล่าวว่า มีปัจจัยประกอบที่สร้างความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอยู่หลายประการ ได้แก่ การที่ตลาดสหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นตลาดผู้บริโภคกุ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ละปีมีการนำเข้ากุ้งจากประเทศต่างๆ สูงถึง 700,000 ตัน ทำให้ผู้ส่งออกกุ้งไทยเร่งทำการส่งออกสินค้ากุ้งยิ่งขึ้น และต้องการวัตถุดิบกุ้งจากเกษตรกรมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการผลิตกุ้งของไทย ก็จัดได้ว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก สามารถสนับสนุนการส่งออก โดยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้นำเข้ากุ้งในตลาดอียูได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไทยมีกระบวนการเลี้ยงกุ้งตามมาตรฐาน Good Aquaculture Practice และมีแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน หรือ Code of Conduct รวมถึงระบบการจัดการฟาร์มกุ้งแบบปลอดสาร (Probiotic Farming) และระบบการตรวจสอบย้อนกลับหรือ Traceability ทำให้แม้อียูจะมีมาตรการตรวจสอบสารตกค้างในกุ้งที่เข้มงวดเพียงใด กุ้งไทยก็จะสามารถผ่านการตรวจสอบนั้นได้ทุกขั้นตอน
“ปัญหาจีเอสพีของอียูคลี่คลายแล้ว ทำให้ภาพรวมการส่งออกกุ้งไทยไปยุโรปดีขึ้นเป็นลำดับ อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะเติบโตต่อเนื่อง ทำรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล ทั้งยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงประชาชนในแวดวงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกนับล้านคน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากทางสหรัฐฯ ว่าจะยกเลิกเอดีให้เหมือนจีเอสพีหรือไม่ ทำให้การส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯลดลง ซึ่งในส่วนนี้ภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น การลดต้นทุน เพื่อรักษาความสมดุล”
ในส่วนของซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ก็คาดว่าสิ้นปี 2548 จะสามารถส่งออกกุ้งไปสหภาพยุโรปได้ถึง 6,000 ตัน จากเดิม 2,000 ตัน เพิ่มขึ้นราว 300 % ส่งผลให้การส่งออกกุ้งโดยรวมทุกตลาดของ ซีพีเอฟ ณ สิ้นปี 2548 จะอยู่ในราว 45,000 ตัน จากเดิม 12,000 ตัน และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งก็จะเติบโตไปด้วย ขณะเดียวกัน จากภาวะน้ำมันแพงที่เกิดขึ้น ซีพีเอฟได้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มกุ้ง โดยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งของบริษัทลดลงราว 20-25 % ดังนั้น คาดว่าผลประกอบการประจำไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2548จะออกมาดีตามความคาดหมาย ด้วยยอดขายปี 2548 ที่ตั้งเป้าไว้ 1.1 แสนล้านบาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักสารนิเทศ CPF
โทร. 0-2625-7344-5--จบ--