ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย จัดงานเสวนา "Citi Digital Forum 2023: A step into new era of technology" อัปเดตมุมมองการลงทุนในสตาร์ทอัพยุคหลังโควิด-19 เพื่อผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพให้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ พร้อมสร้างการเติบโตในธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยภายในงานมีกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุนชั้นนำของไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น โดย ซิตี้แบงก์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อโลกธุรกิจในอนาคต นำเสนอ "Citi Ventures" โมเดลธุรกิจร่วมทุน ที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่องค์กร ซึ่งจะมาขับเคลื่อนและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกธุรกิจยุคใหม่
มร.เบ็น หว่อง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโลกธุรกิจได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเนวโน้มด้านการลงทุน เทรนด์ธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจให้สามารถขับเคลื่อนและเติบโตในสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ซิตี้แบงก์ ในฐานะธนาคารชั้นนำที่มีเครือข่ายทั่วโลก จึงจับมือสตาร์ทอัพและธุรกิจเงินร่วมลงทุนชั้นนำของไทย ได้แก่ บริษัท เลคชอร์ แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด สิงห์เวนเจอร์ส ออร์ซอน เวนเจอร์ส บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท บอทน้อย กรุ๊ป บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด และ บริษัท แอพแมน จำกัด จัดงาน Citi Digital Forum 2023: A step into new era of technology เพื่ออัปเดตมุมมองการลงทุนในสตาร์ทอัพยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นใน 3 ประเด็นประกอบด้วย
อนาคตของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยหลังจบยุคการระบาดของโรคโควิด-19 โดยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำของไทย ร่วมเผยข้อมูลว่าในปี 2566 จะมี 4 ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ 1.ธุรกิจประกันภัยผ่านระบบดิจิทัล (InsurTech) 2.ธุรกิจเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) 3.ธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ (MedTech) และ 4.ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Mobility) ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ธุรกิจโลกในปัจจุบัน เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านี้มีการเติบโตก้าวกระโดดในแง่ของโลจิสติกส์ รวมถึงการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ในขณะเดียวกันมองว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ธุรกิจสตาร์ทอัพควรให้ความสำคัญในเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว ด้วยการปรับตัวให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมแนะสตาร์อัพรุ่นใหม่ควรพิจารณาเลือกตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตระยะยาว ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนและงบกระแสเงินสดให้มีความสมดุล ตลอดจนต้องสร้างความแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดที่มีอยู่ เพื่อสร้างรากฐาน และจัดการระบบของธุรกิจให้มีความมั่นคงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ในขณะที่ ทิศทางแห่งโลกอนาคตของภาคธุรกิจกับการเดินทางสู่ยุค Web 3.0 ได้รับเกียรติจาก นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบิทคับ แคปปิตอล โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ได้ให้ความเห็นว่า "หากมองอนาคตของโลกธุรกิจในระยะสั้น เรากำลังเผชิญกับความปั่นป่วนทั่วโลก ทั้งจากภาคเศรษฐกิจที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลกที่เดินทางมาสู่ยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ต หรือ "Web 3.0" ยุคที่อินเทอร์เน็ตจะมีความอัจฉริยะมากขึ้น มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลใกล้เคียงกับมนุษย์และทำงานได้แบบอัตโนมัติ เช่น เทคโนโลยี Machine Learning, Big Data, AI หรือ Blockchain ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของผู้คน รวมถึงการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงควรมีการลงทุนในเทคโนโลยีข้างต้นด้วย"
ทั้งนี้ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญยังแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 10 ปีต่อจากนี้ จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจากปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประชากรกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุเฉลี่ยโดยรวมน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ รวมไปถึงความมั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นพิเศษ อีกทั้งข้อมูลยังเผยให้เห็นถึงแนวโน้มของภาคธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ต้องมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน
นอกจากนี้การเสวนายังพูดถึง การมาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ สุดล้ำสมัย เช่น ChatGPT และการปรับตัวของภาคธุรกิจ ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ โดยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การที่ ChatGPT อีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เป็นเพราะระบบการทำงาน ChatGPT มีความสามารถดำเนินการได้ตามการป้อนคำสั่งของผู้ใช้งาน เช่น การสรุปข้อมูล การวิเคราะห์สถิติ การร่างเอกสารทางกฎหมาย ไปจนถึงการเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ในรูปแบบโค้ด ซึ่งงานเหล่านี้ในอดีตต้องอาศัยแรงงานของมนุษย์ ดังนั้นการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่าง ChatGPT สามารถดำเนินการได้ในลักษณะเดียวกัน อาจนำมาสู่การแทนที่ของแรงงานมนุษย์ได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแค่ไหน สุดท้ายก็ยังไม่สามารถมาแทนที่แรงงานจากมนุษย์ได้ทั้งหมด เพราะการทำงานที่มีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ล้วนยังต้องอาศัยการป้อนคำสั่งจากแรงงานมนุษย์เป็นหลัก แต่แนวโน้มระบบการทำงานของภาคธุรกิจในอนาคต จะประกอบด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์ โดยตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยการคิดริเริ่มหรือมีความสร้างสรรค์สูงยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน ดังนั้นแรงงานต้องมีการยกระดับ หรือพัฒนาทักษะในด้านการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ถูกทดแทนด้วย AI
ด้าน มร.เอเวอเรตต์ ลีโอไนดาส ผู้อำนวยการ Citi Ventures กล่าวว่า "ซิตี้แบงก์เป็นธนาคารเล็งเห็นความสำคัญกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชันใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของภาคธุรกิจทั่วโลก เนื่องด้วยโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการที่ภาคธุรกิจเติบโตในอนาคตได้อย่างมั่นคง ต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้มาช่วยขับเคลื่อน ทำให้ในปี 2553 ธนาคารซิตี้แบงก์ ได้ก่อตั้ง "Citi Ventures" โมเดลธุรกิจร่วมทุน ที่มุ่งลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตระยะยาว ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความเกี่ยวข้องทั้งด้านเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (FinTech) เทคโนโลยี Data Analytics & Machine Learning รวมไปถึงเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไอที (IT Security) ตลอดจนนวัตกรรมการเงินรูปแบบดิจิทัล ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน Citi Venture ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทสตาร์ทชั้นนำกว่า 100 แห่งทั่วโลก และยังคงเดินหน้าสานเจตนารมณ์ในการร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพต่อเนื่อง ซึ่งจะมาช่วยกำหนดอนาคตของภาคธุรกิจบริการทางการเงิน ไปพร้อมการสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่โลกธุรกิจต่อจากนี้"
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th