พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไขความลับเบื้องหลังความงดงามของนิทรรศการ "สิริราชพัตราบรมราชินีนาถ" ที่จัดแสดงฉลองพระองค์ พระมาลา ฉลองพระบาท พระพัชนี และพระกลดของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะที่ทรงเผยแพร่ความงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยพระองค์เอง เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นการส่งเสริมผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลก คุณวิทวัส เกตุใหม่ ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าที่มาของแรงบันดาลใจ การคัดเลือกวัตถุ กระบวนการเก็บรักษาวัตถุ และการจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อสะท้อนเรื่องราวอันทรงคุณค่าได้อย่างสมบูรณ์แบบ
- แรงบันดาลใจในการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการ
แรงบันดาลใจในการคัดเลือกผลงานมาจากภัณฑารักษ์ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ได้สัมผัสกับสถานที่และผู้คนที่มีเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัตถุนั้น ๆ เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่แนวคิดในการจัดนิทรรศการ โดยทุกครั้งจะมีความแตกต่างกันไปตามเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ หรือวัตถุที่นำมาจัดแสดง โดยแนวคิดของแต่ละนิทรรศการจะต้องเหมาะสมกับสถานที่ เนื้อหาที่จัดแสดง สอดคล้องกับวัตถุที่นำมาจัดแสดง และช่วยส่งเสริมให้วัตถุมีความโดดเด่นมากขึ้น
- เคล็ดลับในการคัดเลือกวัตถุต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
ภัณฑารักษ์จะเป็นผู้คัดเลือกผ้า หรือวัตถุให้มีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับเนื้อหาของนิทรรศการที่จัดแสดง จากนั้นจะทำรายการวัตถุเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่อนุรักษ์และทะเบียนเป็นผู้จัดเตรียมวัตถุ โดยวัตถุที่คัดเลือกต้องมีสภาพที่เหมาะสม สามารถนำไปจัดแสดงได้ ซึ่งทางภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะหารือถึงวิธีการจัดแสดงที่เหมาะสมกับวัตถุนั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุเสื่อมสภาพ หรือเกิดความเสียหายในระหว่างการจัดแสดง
- กรรมวิธีในการจัดเก็บรักษาผืนผ้าต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
งานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลของงานอนุรักษ์ โดยดำเนินการดูแลและป้องกันวัตถุเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพ เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบสภาพของวัตถุทุกชิ้น การจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด การฆ่าเชื้อวัตถุแรกรับด้วยการแช่แข็งภายใต้อุณหภูมิลบ ๒๐ องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา ๑๐-๒๐ วัน เพื่อกำจัดเชื้อราและแมลงที่ติดมากับตัววัตถุ ก่อนจัดเก็บที่ห้องคลัง หรือนำไปจัดแสดง
การจัดเก็บจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น กรณีที่เป็นผ้าผืน หรือผ้าปักประดับต้องจัดเก็บในกล่อง หรือแกนกระดาษไร้กรด กรณีที่เป็นชุดเสื้อผ้าจะใช้ถุงคลุมที่ทำจากผ้าในการเก็บชุดแต่ละชุดแยกจากกัน และนำผ้าหรือเครื่องแต่งกายที่ได้รับการจัดเก็บอย่างมิดชิดสมบูรณ์แล้ว ไปเก็บรักษาไว้ภายในตู้จัดเก็บวัตถุในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอยู่ตลอดเวลา
- ขั้นตอนในการคัดเลือกและการจัดแสดงผลงานของภัณฑารักษ์
เริ่มตั้งแต่ภัณฑารักษ์จะทำการคัดเลือกวัตถุที่มีความสอดคล้องกับนิทรรศการ ก่อนจะทำรายการวัตถุแจ้งไปยังแผนกอนุรักษ์และทะเบียน หลังจากนั้น ภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะทำการประเมินสภาพวัตถุที่คัดเลือกในเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบสภาพวัตถุต่อไป หากวัตถุนั้นมีความชำรุดเสียหายก็ต้องหาวิธีในการซ่อมแซมที่เหมาะสม เพื่อให้มีสภาพที่แข็งแรงและคงทนมากขึ้น
ในกรณีที่วัตถุมีความพร้อมที่จะนำไปจัดแสดงได้ ก็ต้องหารือถึงวิธีการจัดแสดงที่เหมาะสมกับสภาพวัตถุ เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมสภาพไปมากกว่าเดิม โดยวัตถุที่ได้รับการคัดเลือกต้องจัดแสดงภายในตู้ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม ตลอดจนการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ไร้กรด และไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมี ทั้งในส่วนการจัดเก็บและการจัดแสดง เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมตามมาตรฐานงานอนุรักษ์
- การจัดทำระบบฐานข้อมูลของชิ้นงาน ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีระบบการฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการจัดเก็บรูปภาพ ข้อมูล รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุทุกชิ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้คัดเลือกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ รวมไปถึงวัตถุที่ได้รับมอบให้เข้ามาจัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยระบบฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นระบบที่มีมาตรฐานสากลและนิยมใช้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก ทั้งยังสะดวกต่อการใช้งานของเจ้าหน้าที่ผู้บันทึกข้อมูล และผู้สืบค้นข้อมูลอีกด้วย
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังวางแผนที่จะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผืนผ้าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความน่าสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการผ้าในราชสำนัก เช่น ผ้าลายอย่าง ผ้ายก เป็นต้น นิทรรศการผ้าชาติพันธุ์ เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าชาวไทยภูเขา เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" เรียนรู้พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงผ่านฉลองพระองค์ในช่วงเวลาต่างๆ และสนุกกับการเรียนรู้เรื่องผ้าจากท้องถิ่นต่างๆ อันมีชื่อเสียงในประเทศไทยที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้รวบรวมไว้ ภายในห้องกิจกรรม "ปัก : ถัก : ทอ" (Woven Dialects) เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น. บัตรเข้าชมผู้ใหญ่ ราคา ๑๕๐ บาท ผู้สูงอายุ (๖๕ ปีขึ้นไป) ราคา ๘๐ บาท นักเรียนหรือนักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ ๑๒ - ๑๘ ปี ราคา ๕๐ บาท เด็กอายุต่ำว่า ๑๒ ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ติดต่อ
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง
ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ (+๖๖) (๒) ๒๒๕ ๙๔๒๐
เว็บไซต์ http://www.qsmtthailand.org/