ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2551 กระเตื้องขึ้น ผู้ประกอบการหวั่น ยอดคำสั่งซื้อและขายในประเทศกระทบเชื่อมั่นผู้บริโภคอีก 3 เดือนข้างหน้า

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 2008 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 647 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 83.2 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่อยู่ในระดับ 83.0 จุด โดยได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และปริมาณการผลิตที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากรายได้ของเกษตรกรที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล แต่ต้นทุนการประกอบการถูกกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ส่งผลต่อเนื่องถึงผลประกอบการ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2551 จึงมิได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ณ เดือนมีนาคม 2551 อยู่ที่ 89.3 จุด ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่อยู่ในระดับที่ 99.9 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มกลับมากังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหา Sub prime ของสหรัฐอเมริกาและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ณ เดือนมีนาคม 2551 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2551
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและสูงกว่าระดับ 100 มีจำนวน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ แก้วและกระจก, ยา, ยานยนต์, เครื่องจักรกลโลหะการ, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, รองเท้า ส่วนอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและต่ำกว่าระดับ 100 มีจำนวน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงและสูงกว่าระดับ 100 มีจำนวน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงและต่ำกว่าระดับ 100 มีจำนวน 16 กลุ่มอุตสาหกรรม
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการปรับตัวลดลงซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมขนาดกลางและอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดคำสั่งขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก๊าซซึ่งได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ได้รับผลดีจากการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ที่ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า ภาคกลางมีการปรับตัวลดลงโดยมีผลมาจากต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งต้นทุนด้านพลังงานและต้นทุนด้านวัตถุดิบ ภาคเหนือมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเซรามิก หัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากกำลังซื้อของคนในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาคตะวันออก และภาคใต้มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกในกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากตลาดต่างประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังคงประสบกับปัญหา Sub-prime แต่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาน้อยลงและมีการเปิดตลาดใหม่มากขึ้นรวมถึงสามารถผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นช่วยให้ผู้ส่งออกมีความเสี่ยงจากค่าเงินน้อยลง ส่วนกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30-60 ดัชนีฯ มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน เช่นเดียวกับกลุ่มส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของยอดขาย
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2551 พบว่า ราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ตามด้วยปัจจัยการเมือง
สำหรับใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความกังวลในปัจจัยต่างๆ ในแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยที่มีความกังวลมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากปัญหา Sub prime ของสหรัฐอเมริกา
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาครัฐควรควบคุมราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป เร่งการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็ต และเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น ดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม และเร่งหาพลังงานทดแทน ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ลดดอกเบี้ย และให้การสนับสนุนทางการเงิน และเพิ่มมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ศิวพร แสนเสนา (โม)
08-1644-6052/0-2345-1017

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ