กทม.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด 19 หลังสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Tuesday April 18, 2023 16:16 —ThaiPR.net

กทม.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด 19 หลังสงกรานต์

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้รณรงค์เน้นย้ำและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคและมาตรการสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รวมถึงเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลังเดินทางกลับจากท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลีกเลี่ยงสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัวให้ตรวจด้วยชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) หากตรวจแล้วผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเอง ทั้งนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้จัด เตรียมยา เวชภัณฑ์รักษาโรคโควิด 19 ไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งได้เปิดให้บริการคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ระหว่างเวลา 08.00 - 12.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมเตียงและบุคลากรทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นภายหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง รวมถึงจัดทีมสหสาขาวิชาชีพติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง เฝ้าติดตามอาการตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเป็นอีกอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อโควิด 19 หรือเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้มีเชื้อโรคกระจายมายังเยื่อบุตา อย่างไรก็ตาม อาการเยื่อบุตาอักเสบ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มักเป็นเพียงเยื่อบุตาอักเสบที่คล้ายจากไวรัสชนิดอื่น ๆ รักษาโดยให้ยาลดอาการและประคับประคองก็จะดีขึ้น วิธีตรวจสอบว่า เป็นโรคภูมิแพ้ดวงตา หรือติดเชื้อโควิด 19 ให้ตรวจที่ดวงตา หากดวงตามีอาการแดง น้ำตาไหล และมีอาการคัน เคืองตา ถือเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ดวงตา หากติดเชื้อโควิด 19 จะไม่ทำให้ดวงตาคันเคือง หรือมีน้ำตาไหล ความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้ดวงตากับโรคโควิด 19 คือ อาการไข้ หากเป็นภูมิแพ้ดวงตาจะไม่มีอาการไข้เหมือนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการ

ทั้งนี้ หลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ขอให้ประชาชนตรวจคัดกรองตนเองก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น การตรวจด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR หากมีผลบวกจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเฝ้าระวังอาการตนเองที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าวให้เร่งตรวจคัดกรองตนเอง หากผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ ช่วงสังเกตอาการให้เลี่ยงพบผู้คน สวมหน้ากากตลอดเวลา และใช้มาตรการ Work from Home ในช่วง 7 วันหลังกลับจากสถานที่ต่างจังหวัด หากผลตรวจเป็นบวก กรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ) แยกกักตัวที่บ้านแบบ "เจอ แจก จบ" หรือรักษาที่บ้าน (Home Isolation) กลุ่มสีเหลือง สีแดง ส่งต่อโรงพยาบาลที่สามารถดูแล โดยใช้สิทธิ UCEP Plus อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนป้องกันตนเองและคนในครอบครัว โดยเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง DMHTT และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ