เอชเอสบีซี เผยผู้จัดการกองทุนเน้น เงินสดและการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก ในไตรมาสแรกปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 22, 2008 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี
ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำ 10 แห่ง พบว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ผู้จัดการกองทุนหันให้ความสำคัญกับการถือเงินสดมากกว่าการลงทุนในหุ้นและพันธบัตร
ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 62 ของผู้จัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจครั้งนี้ ให้น้ำหนักมากขึ้นกับการถือเงินสด เทียบกับร้อยละ 25 จากการสำรวจเมื่อไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ร้อยละ 38 ของผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ยังได้ลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหุ้น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากไตรมาสก่อน ที่ไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใดเลยที่มีความเห็นดังกล่าว เฉพาะการลงทุนในหุ้น ผู้จัดการกองทุนทุกรายมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 87 ที่มีความเห็นดังกล่าวในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ จีน (Greater China) โดยร้อยละ 75 ของผู้จัดการกองทุนที่ตอบแบบสำรวจเพิ่มน้ำหนักการลงทุน เปรียบเทียบกับร้อยละ 87 ของไตรมาสก่อนหน้านี้
ด้านตลาดพันธบัตร ร้อยละ 50 ของกลุ่มสำรวจให้น้ำหนักน้อยลงกับการลงทุนในตราสารประเภทนี้ เทียบกับร้อยละ 62 ของการสำรวจในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 37 มีความเห็นเป็นกลาง เทียบกับร้อยละ 25 จากการสำรวจคราวก่อน
มร. บรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ความคิดเห็นของบรรดาผู้จัดการกองทุนเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความผันผวน และจิตวิทยาของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้กลยุทธ์การลงทุนในช่วงดังกล่าวมีความระมัดระวัง และเน้นเฉพาะตลาดตราสารที่ให้ผลตอบแทนแน่นอน นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะรักษาสภาพคล่องในมือไว้ให้พร้อมสำหรับการลงทุนเมื่อตลาดเปิดโอกาสและให้ผลตอบแทนดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็รักษาสมดุลของการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยการหันไปลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโต”
บทวิเคราะห์ผลสำรวจการไหลเวียนของเงินลงทุน (ไตรมาสที่ 4 /2007)
นอกจากการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจัดการกองทุนเกี่ยวกับทิศทางและตลาดการลงทุนแล้ว ธนาคารเอชเอสบีซี ยังจัดการสำรวจรายไตรมาสในกลุ่มบริษัทจัดการกองทุนที่เป็นพันธมิตรของเอชเอสบีซี1 รวม 10 แห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการไหลเวียนของกระแสเงินลงทุนทั่วโลก (the global liquidity flow) และความเคลื่อนไหวในการจัดสรรเงินลงทุนในตลาดตราสารประเภทต่าง ๆ ทั่วโลก กระแสเงินลงทุนสุทธิ2 (Net fund flow) ซึ่งคำนวณโดยแยกผลกระทบจากความผันผวนของตลาดต่าง ๆ ออกไป เพื่อให้ได้ภาพรวมของกิจกรรมการลงทุนของนักลงทุนในตลาดตราสารต่าง ๆ ทั่วโลก ธนาคารเอชเอสบีซีจัดการสำรวจนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าในการตัดสินใจเลือกลงทุนโดยมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน
ผลการสำรวจของธนาคารเอชเอสบีซี พบว่า ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจในไตรมาส 4/2007 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2007 จำนวน 94 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 2
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2007 เงินลงทุนยังคงไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิคิดเป็นร้อยละ 14.3 เพราะนักลงทุนยังมั่นใจในศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มากกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว การไหลเข้าของเงินทุนดังกล่าวสะท้อนผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนในเรื่องประเภทตราสารและภูมิภาคของการลงทุนตามที่กล่าวข้างต้น
ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นและยุโรปมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2007 เพียงเล็กน้อย คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะมีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดในการสำรวจครั้งนี้ โดยดัชนี MSCI ลดน้ำหนักตลาดหุ้นญี่ปุ่นลงถึงร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4/2007 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินทุนไหลออกสุทธิในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า ในภาพรวม ตลาดหุ้นที่มีปริมาณเงินทุนไหลออกสุทธิสูงสุดในช่วงไตรมาส 4/2007 คือ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (ไม่รวมตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย) ลดลงร้อยละ 7.2 ตามด้วยตลาดหุ้นสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2 และตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลก ลดลงร้อยละ 1.8 ทั้งนี้เพราะนักลงทุนยังเป็นห่วงผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤติซับไพร์มและภาวะวิกฤติของตลาดสินเชื่อทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้พันธบัตรจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเลี่ยงความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก มาสู่ตลาดตราสารที่ให้ผลตอบแทนมั่นคงกว่า ตลาดพันธบัตรที่มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิสูง 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตลาดพันธบัตรทั่วโลก ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง คิดเป็นร้อยละ 5.4 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ สำหรับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ แม้จะมีอัตราเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรอื่น ๆ โดยให้ผลตอบแทนร้อยละ 3 ในไตรมาส 4/2007 แต่การผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กลับส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกสุทธิที่ร้อยละ 1.4
มร. ลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกสามารถสร้างผลตอบแทนจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น พวกเขาจึงลงทุนด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ผู้จัดการกองทุนหลายแห่งพักเงินไว้ในกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงิน ซึ่งภายในไตรมาสเดียวให้ผลตอบแทนสูงถึง 77 พันล้านเหรียญสหรัฐ ของยอดการเติบโตของเงินกองทุนภายใต้การบริหารจัดการ จะเห็นได้ชัดว่านักลงทุนหันไปหา “คุณภาพ” มากขึ้นด้วยการกระจายเงินไปลงทุนในกองทุนพันธบัตร
บทวิเคราะห์ผลสำรวจการไหลเวียนของเงินลงทุน (ภาพรวมตลอดปี 2007)
ณ สิ้นปี 2007 ยอดเงินกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจ
ทั้ง 10 แห่ง มีจำนวน 4.85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2006 คิดเป็นร้อยละ 16.2
ทั้งนี้ กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นยังคงมีสัดส่วนสูงสุด และให้ผลตอบแทนดีที่สุด ส่งผลดีให้ยอดเงินกองทุนภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มถึง 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในบรรดากองทุนที่ลงทุนในหุ้น พบว่ามีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นทั่วโลก ยุโรป ญี่ปุ่น เอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก (ไม่รวมตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย) ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐรวมทั้งปีพบว่ามีเงินทุนไหลออกมากกว่าไหลเข้า นอกจากนี้ ยังพบว่าตลอดทั้งปีมียอดเงินลงทุนในกองทุนหุ้นไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกมากขึ้น โดยมีปริมาณเงินทุนไหลเข้าสุทธิที่ร้อยละ 66.5 และร้อยละ 37.4 ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรพบว่าตลอดทั้งปีมียอดเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดพันธบัตรเพิ่มขึ้นโดยกระจายไปในทุกภูมิภาค ได้แก่ ตลาดพันธบัตรทั่วโลก สหรัฐ ยุโรป และ สหราชอาณาจักร รวมทั้งพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูง
มร. ลี กล่าวว่า “ปี 2007 นับเป็นปีแห่งการทำกำไรจากตลาดหุ้นที่มีการเติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในเอเชีย ตลาดหุ้นเกิดใหม่ และตลาดหุ้นจีน ขณะที่ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ อ่อนตัวลง ส่วนความผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีที่แล้ว ที่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ เกิดจากการที่นักลงทุนปรับสมดุลของพอร์ตลงทุนโดยให้น้ำหนักกับพันธบัตรและเงินสดมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่ผลสำรวจพบว่านักลงทุนได้ปรับตัวโดยหันมาเน้นการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) จีน และตลาดเกิดใหม่ ที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต
เขากล่าวเสริมในตอนท้ายว่าสำหรับนักลงทุนในฮ่องกง ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ยังมีช่องทางการลงทุนให้เลือกทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน “ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะกับการทบทวนและปรับพอร์ตลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง ในตลาดยังมีผลิตภัณฑ์การเงินประเภทความเสี่ยงต่ำให้เลือกหลายชนิด ทั้งชนิดที่ประกันหรือไม่ประกันเงินต้น ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้บ้าง สามารถเลือกลงทุนในกองทุนพันธบัตรคุณภาพสูง ควบกับกองทุนผสมที่มีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นในตลาดทั่วโลกเท่า ๆ กัน สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกลงทุนตามที่ปรากฎในผลสำรวจ คือ เลือกกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ในภูมิภาคเอเชียและตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายแห่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
1. ธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศไทย
เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เปิดสำนักงานให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินการธนาคารและเครือข่ายสาขากว้างขวางทั่วโลก รวมกับความรู้ความชำนาญของบุคลากรภายในประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดให้บริการด้านการเงินและการธนาคารเต็มรูปแบบ ทั้งบริการด้านเงินฝาก สินเชื่อธุรกิจ ธุรกิจสถาบันการเงิน บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน บริการดูแลและรับฝากหลักทรัพย์ บริการการค้าระหว่างประเทศ และบริการด้านการชำระเงินและบริหารเงินสดแก่ลูกค้าประเภทองค์กร ตลอดจนบริการบุคคลธนกิจและธุรกิจบัตรเครดิตแก่ลูกค้าประเภทบุคคล ธนาคารเอชเอสบีซีได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในด้านบริการที่ได้มาตรฐานสูง ความมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ และเจตนารมณ์ในการมุ่งมั่นบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ
1ผู้จัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจ (Participating fund managers)
ผู้จัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจครั้งนี้ทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ Alliance Bernstein Investments, Allianz Global Investors, Baring Asset Management, Blackrock Merrill Lynch Investment Managers, Fidelity Investment Management (Hong Kong) Limited, Franklin Templeton Investments, HSBC Investments, INVESCO Asset Management, JF Asset Management and Schroders. ณ สิ้นปี 2007 ยอดเงินกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุน (Funds Under Management = FUM) ทั้ง 10 แห่งนี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4.85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
2กระแสเงินลงทุนสุทธิ (Net fund flows)
กระแสเงินลงทุนสุทธิ ได้จากการนำมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น มาหักออกจากยอดเงินที่เพิ่มขึ้นของกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุน ในไตรมาสที่ 4/2007

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ