กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ไอเอ็นจี กรุ๊ป เปิดข้อมูลจากการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาส พบความเชื่อมั่นในการลงทุนในเอเชียลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของความไม่แน่นอนของตลาดโลกที่มีต่อภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยลดลงเพียง 2.2% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 จัดเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นอันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนรายใหญ่ของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป เพื่อจัดทำดัชนีวัดความเชื่อมั่นในการลงทุนที่ชื่อว่า ING Barometer ในยุโรป ที่นักลงทุนรายใหญ่ใช้เป็นตัววัดแนวโน้มของการลงทุนในยุโรป และได้นำวิธีการดังกล่าวมาใช้กับเอเชีย โดยการสำรวจภาวะตลาดการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค 13 แห่ง ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งผลการสำรวจทำให้ได้ทราบความเชื่อมั่นในการลงทุนในแต่ละประเทศ และดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ประจำไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2551 โดยในส่วนของประเทศไทยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากภาวะไม่แน่นอนของตลาดโลก วิกฤตจากสินเชื่อด้อยคุณภาพและวิกฤตสินเชื่อโลก ยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง
นักลงทุนไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เห็นช่องทางที่ดีของการลงทุนระยะยาว โดยคิดว่าภาวะเลวร้ายคงจะผ่านพ้นไปได้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนไทยหวังผลเก็งกำไรสูงกว่านักลงทุนประเทศอื่นๆ
นักลงทุนไทยและชาติอื่นในเอเชียยังคงใช้นโยบาย “เฝ้าจับตาดู” เพื่อรอให้ระยะที่ตลาดยังไม่มีความแน่นอนผ่านพ้นไปก่อน
นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงมุ่งลงทุนในประเทศ โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ พร้อมกับขยายการลงทุนไปในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
รายงานผลการสำรวจของไอเอ็นจี กรุ๊ป ประจำไตรมาสแรกปี 2551 เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นในการลงทุนในเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของภาวะวิกฤตของสินเชื่อด้อยคุณภาพ วิกฤตสินเชื่อโลก และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ที่มีต่อภูมิภาคนี้ ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเอเชียแปซิฟิค ลดลงจาก 141 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 มาเป็น 135 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 และ 125 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยฮ่องกง ลดลงจาก 148 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือ 107 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 และสิงคโปร์ ลดลงจาก 136 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือ 88 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ส่วนเกาหลีใต้ ลดจาก 113 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือ 96 ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้
“ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทย ลดลงเพียง 2.2% โดยลดลงจาก 134 มาอยู่ที่ 131 ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ จัดเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นอันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 168 และ 136 ตามลำดับ” รายงานผลการสำรวจระบุ
ในแง่ของความคิดเห็นต่อการลงทุนในอนาคตนั้น ภาวะสินเชื่อด้อยคุณภาพ และวิกฤตสินเชื่อโลก ยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับนักลงทุนและเอเชีย โดย 65% ของนักลงทุนไทย และ 73% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้น ญี่ปุ่น) คิดว่าวิกฤตของสินเชื่อด้อยคุณภาพมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ว่า นักลงทุนไทยและชาติอื่นในเอเชีย เริ่มสนใจแต่ยังคงระมัดระวังในการลงทุนระยะยาว แม้จะคิดว่าผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าไตรมาส
ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะของตลาดเงิน แต่ผลการสำรวจชี้ว่านักลงทุนไทยคาดหวังผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่าชาติอื่นๆ ในเอเชีย
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า นักลงทุนไทยมีความเชื่อมั่นในนโยบายสนับสนุนการลงทุนของทางภาครัฐ โดย 68% ของนักลงทุนไทยคาดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 16% ที่เห็นว่านโยบายดังกล่าวช่วยให้สภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยและเอเชียส่วนใหญ่มองภาพเศรษฐกิจ ผลตอบแทนการลงทุน และสถานะการเงินส่วนบุคคล ในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 สดใสกว่าไตรมาส 1 ปี 2551 อันสะท้อนให้เห็นว่าว่านักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยอยู่เป็นเวลานาน และคาดว่าภาวะเลวร้ายต่างๆ น่าจะผ่านพ้นไปได้
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในภาวะปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนทั่วโลกลดลง รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ในขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่เน้นลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนที่คุ้มครองเงินต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ยังสนใจจะลงทุนในกลุ่มสินค้าเกษตร เพราะราคาของกลุ่มสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการบริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นการใช้เป็นพลังงานทางเลือก ดังนั้น ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บลจ.ไอเอ็นจี ได้ออกกองทุนใหม่ เรียกว่า “ING Thai GAME Enhanced Linked Fund” ซึ่งกองทุนนี้ได้ลงทุนในตราสาร structured note ที่มุ่งเน้นคุ้มครองเงินต้นที่ลงทุนในรูปเงินเหรียญสหรัฐ และกองทุนได้ทำการขาย forward เพื่อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐเพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยกองทุนมีผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาของทรัพย์สิน 3 ประเภทเท่าๆ กันคือราคาทองคำ ดัชนีราคาสินค้าเกษตร และราคาหุ้นกลุ่มตะวันออกกลาง
“เราเชื่อว่า ตลาดการเงินยังคงต้องอยู่ในสภาพที่ผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาว ขณะนี้เป็นโอกาสดีในการเลือกลงทุน” นายมาริษกล่าว
นายเอ็ดดี้ เบลมานส์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียเหนือ ของไอเอ็นจี ให้ความเห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเอเชียลดลงในสองไตรมาสสุดท้าย เพราะมีความเชื่อมโยงกับตลาดการลงทุนโลก จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐไปไม่ได้ และสิ่งที่เรามองเห็นในขณะนี้คือ นักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง กำลังได้รับผลกระทบความความผันผวนของตลาดโลกมากเป็นพิเศษ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนรวม
“คงจะเร็วเกินไปที่จะคิดว่าภาวะเลวร้ายจะผ่านพ้นไปได้ง่ายๆ แม้ว่าตลาดการเงินยังคงมีความผันผวน เศรษฐกิจของฮ่องกงและชาติอื่นๆ ในเอเชียยังคงมีความแข็งแกร่ง ด้วยการค้าระหว่างภูมิภาคและความต้องการในประเทศจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของเอเชียเติบโตต่อไป ตลอดจนช่วยให้ตลาดในภูมิภาคนี้สามารถรองรับแรงกระทบจากปัจจัยต่างๆได้ ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตระหว่าง 3-9% สำหรับประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 5%” นายเบลมานส์ กล่าว
ในด้านผลการสำรวจอื่นๆ สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนั้น
62% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 27% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น
78% คาดว่าผลตอบแทนการลงทุนจะสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ขณะที่มีเพียง 46% ที่เชื่อว่าผลตอบแทนการลงทุนได้ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2551
67% เห็นว่าสถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้ เทียบกับ 32% ที่คิดว่าสถานะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรก
ในขณะที่ผลการสำรวจในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) พบว่า
48% ชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เทียบกับ 32% คิดว่าสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1
57% มีความเห็นว่า ผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะในจีน 71% ฮ่องกง 52% และ เกาหลี 48%
56% กล่าวว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เทียบกับ 40% ที่คิดว่าสถานะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1
ผลการสำรวจอีกทางหนึ่งชี้ว่า 48% ของนักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) คิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2008 ส่วนไทย 45% คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะปรับตัวลดลงอย่างมาก
การสำรวจของไอเอ็นจี ชี้ด้วยว่า นักลงทุนไทยและผู้ร่วมทุนชาวเอเชีย ใช้นโยบาย “คอยจับตาดู” สำหรับการแก้ปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกผันผวน และเน้นลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
54% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เทียบกับ 47% และ 38% เห็นว่าควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูงตามลำดับ
46% ของนักลงทุนไทยที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง เทียบกับ 42% ที่เห็นว่า ควรลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
ผลการสำรวจของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป พบด้วยว่านักลงทุนไทยและเอเชียในปัจจุบัน จะลงทุนในประเทศและประเทศใกล้เคียงมากกว่า ทั้งนี้ พบว่า 79% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จะมีการลงทุนในตลาดเอเชียด้วย และ 59% ของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่นและจีน) ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จะมีการลงทุนในตลาดจีนด้วย
ภูมิหลัง
การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส โดยในแต่ละตลาดที่ทำการสำรวจ จะแบ่งเกณฑ์ค่าดัชนีไปตั้งแต่ 0 (แย่ที่สุด) จนถึง 200 (ดีที่สุด)
การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจไตรมาสแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเขตภูมิภาคดังกล่าว (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยได้นำดัชนีความเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาปรับเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจในแต่ละไตรมาสด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวมาจากค่ากลางของฐานใน10 ตลาดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย (ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
ไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายหลังความสำเร็จของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ บาโรมิเตอร์ในยุโรป ซึ่งตีพิมพ์เป็นประจำในประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเพื่อประเมินความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อย และนับเป็นตัววัดความคิดเห็นของนักลงทุนรายย่อยที่น่าเชื่อถือ ที่นักลงทุนรายสำคัญในแวดวงการเงินในยุโรปให้การติดตามอย่างใกล้ชิด
การสำรวจไตรมาส 3 ปี 2550 และไตรมาส 4 ปี 2550 ทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2550 และเดือนพฤศจิกายนปี 2550 ตามลำดับ การสำรวจไตรมาสแรกประจำปี 2551 ดำเนินการเมื่อเดือนมีนาคมปี 2551 โดยการสัมภาษณ์โดยตรงและออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนรายใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,308 คน กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 30 ปีหรือสูงกว่า มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือมากกว่า ยกเว้นในอินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 56,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือมากกว่านั้น) และฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือรายได้ต่อเดือน 250,000 เปโซหรือมากกว่านั้น)
ผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ ทีเอ็นเอส (TNS)
เกี่ยวกับไอเอ็นจี กรุ๊ป
ไอเอ็นจี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่บริการจัดการด้านการธนาคาร กรมธรรม์ และสินทรัพย์ ให้แก่ลูกค้ารายบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนกว่า 75 ล้านรายในกว่า 50 ประเทศ ด้วยบุคลากรที่หลากหลายราว 125,000 คนและกลุ่มบริษัทที่โดดเด่นในเครือทำให้ไอเอ็นจีสามารถให้บริการลูกค้าภายใต้แบรนด์ไอเอ็นจีได้ครอบคลุมมากขึ้น
เกี่ยวกับทีเอ็นเอส
ทีเอ็นเอส เป็นบริษัทผู้ให้บริการงานวิจัยและการวิเคราะห์ที่มีแบบแผนชั้นยอดของโลก จากผสมผสานกับความเข้าใจเบื้องลึกในวงอุตสาหกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการซื้อขายแบบเจาะลึก การจัดการผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าใหม่ แบรนด์ และการสื่อสาร ทั้งนี้ ทีเอ็นเอสเป็นคู่ค้าที่สามารถสนองความต้องการของลูกค้า โดยสามารถจัดสรรข้อมูลชั้นเยี่ยม การวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าผ่านเครือข่ายกว่า 70 ประเทศ