กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่าในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน โดยให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่บริเวณที่มีฝนตกฟ้าคะนอง หากเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรเข้าไปอยู่ใกล้ต้นไม้สูง ควรหลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้าจะปลอดภัยมากขึ้น หลีกเลี่ยงการเปิดโทรทัศน์ระหว่างที่ฟ้าร้องฟ้าผ่า ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้งให้นั่งยองๆขาชิดกับพื้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้าผ่าได้ระดับหนึ่ง ตลอดจนไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กลางแจ้ง เพราะเป็นสื่อล่อฟ้าอย่างดีที่อาจทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าได้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบกับพายุฤดูร้อน โดยขณะที่เกิดพายุรุนแรงนั้นมักเกิดปรากฏการณ์ฟ้าร้อง — ฟ้าผ่าควบคู่กับภาวะลมกระโชกแรง ซึ่งฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยผู้ที่ถูกฟ้าผ่าส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการถูกกระแสไฟฟ้ามากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ แอมแปร์ดูดหรือช๊อต เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัย ดังนี้ กรณีอยู่กลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หากเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน จี้ สร้อยโลหะ หรือถืออุปกรณ์ประเภทโลหะ เช่น ร่มที่มีโลหะบนยอดหรืออยู่ใกล้กับอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เช่น เครื่องมือทางการเกษตร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ และให้นั่งยองๆ ขาชิดกันที่พื้น แต่ห้ามนอนราบกับพื้นอย่างเด็ดขาด ซึ่งวิธีนี้จะลดความเสี่ยงในการถูกฟ้าผ่าได้มาก ที่สำคัญ ห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะฟ้ามักจะผ่าลงที่สูง การหลบอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่จึงไม่ปลอดภัย เนื่องจากขณะเกิดฟ้าผ่าใต้ต้นไม้ใหญ่จะมีแรงดันที่พื้นดิน ทำให้คนที่อยู่ใต้ต้นไม้ได้รับอันตราย โดยกระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดอาการช็อกถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น ตลอดจนงดเว้นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะฟ้าผ่า เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสื่อล่อฟ้าซึ่งมีแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนผสมของโลหะ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมทางต่างๆ กลางแจ้งในช่วงที่เกิดฟ้าผ่าหรือพายุฝนฟ้าคะนอง เช่น การทำนา ทำสวน การเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ หากอยู่ในอาคาร ควรติดตั้งสายล่อฟ้าเพื่อความปลอดภัยและป้องกันฟ้าผ่าลงมายังอาคาร ไม่ควรเปิดโทรทัศน์ขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า เพราะฟ้าอาจผ่ามาที่เสาอากาศนอกบ้านซึ่งเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ ทำให้โทรทัศน์ได้รับความเสียหาย เว้นแต่มีการต่อสายดินก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้าผ่าลงได้ ตลอดจนอุปกรณ์ที่ต้องเสียบปลั๊กไฟทุกชนิดมีโอกาสได้รับความเสียหายจากฟ้าผ่าทั้งสิ้น ถึงแม้จะไม่โดนผ่าตรงๆก็ตาม แต่อาจมีแรงดันเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียง ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายได้ ในกรณีที่ขับรถหรืออยู่ในรถระหว่างที่ฟ้าผ่า มีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้น้อย เนื่องจากรถยนต์มีโลหะนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก จึงทำให้ความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่านั้นน้อยลงด้วย จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ฟ้าร้องฟ้าผ่าเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นอันตรายต่อประชาชน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่ปลอดภัยในช่วงที่เกิดฟ้าผ่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้