นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จแบบยั่งยืน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง ซึ่งมาจากความสามัคคี ความเข้มแข็งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กับสมาชิกในชุมชน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งหวังที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน จากการพึ่งพาตนเอง
ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 คือ การระเบิดจากข้างใน "เข้าใจ-เข้าถึง-และพัฒนา" เป็นหลักปฏิบัติ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2566) ด้วยพื้นที่โครงการ จำนวน 14.03 ตารางกิโลเมตร (8,768.75 ไร่) แบ่งเป็น พื้นที่เกษตรหรือทำกิน จำนวน 1,200 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 214.80 ไร่ และพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ จำนวน 6,252 ไร่ จนเกิดเป็นโมเดลตัวอย่าง "ชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน" หรือที่เรียกว่า "Powerpoint มีชีวิต" ซึ่งปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ Social Enterprise ให้ชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ และพัฒนาชุมชนของตนเอง อีกทั้งเป็นชุมชนต้นแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชุมชน อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ชัยพิบูลย์ คณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า "รู้สึกยินดีกับความสำเร็จของ "โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล" และขอบคุณพี่น้องชุมชนบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืนจากการพึ่งพาตนเอง ตลอดระยะ 10 ปี ที่เข้ามาในพื้นที่นี้ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา ร.9 การระเบิดจากข้างใน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" มาดำเนินงานร่วมกันกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ คือ เข้าใจ-ในวิถีชีวิตชุมชน เข้าถึง-ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และ พัฒนา-ตามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน บนรากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จากความร่วมมือและความเข้มแข็งในชุมชน เกิดเป็นแรงขับเคลื่อนที่นำชุมชนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ส่งผลให้ จากชุมชนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามฤดูกาล เปลี่ยนเป็นชุมชนที่สามารถปลูกพืชผสมผสาน หมุนเวียน ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจยืนต้นต่างๆ สามารถคืนพื้นที่ป่า ลดปัญหาหมอกควันการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งยังมีการเลี้ยงสุกร การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ การเลี้ยงปลาในบ่อพวงสันเขา การแปรรูปเนื้อสุกร การแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตที่ผลิตขึ้นในชุมชน รวมถึงการประกอบอาชีพนอกจากภาคการเกษตร ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าซิ่นตีนจก การทำของฝาก ของที่ระลึกต่างๆ เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ในส่วนของด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มีการผลักดันและจัดสร้างวัดเหล่าป่าตาลที่มีอายุและร้างมานับกว่า 1,000 ปี และการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน ส่งผลให้เป็นชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทั้งหมดนี้เราเรียกว่า "สูตรสำเร็จ ต้นแบบชุมชนยั่งยืน" หรือ "PowerPoint มีชีวิต" นั่นเอง"
นายวิโรจน์ หมอกใหม่ ผู้ใหญ่บ้าน และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัย กล่าวว่า "จุดแรกเริ่มของที่นี่คือการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ซึ่งก็คือ "แหล่งน้ำ" ที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการประกอบอาชีพทางเกษตรของคนในชุมชน จากที่ 2 หน่วยงาน เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ให้ความรู้ด้านวิชาการ สนับสนุนอุปกรณ์สร้าง วางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง (บ่อพวงสันเขา) อย่างต่อเนื่อง ผสานกับพลังสามัคคีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง กับคนในชุมชน ที่ช่วยกันสร้างและคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาตลอดเส้นทางการสร้างบ่อพวงสันเขา ทำให้เกิดการเรียนรู้ การพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน และนี่จึงเป็นจุดกำเนิด "โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม: แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล" ตลอดระยะทาง 10 ปี ที่พวกเราเปิดใจที่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ทางภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และใช้พลังของคนในชุมชนฯ ขับเคลื่อนด้วยการพึ่งพาตัวเอง จนเกิดเป็นอาชีพที่หลากหลาย ทำให้เกิดรายได้ และตอนนี้คนในชุมชนก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจ และงานในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของคนในชุมชนแม่ปาน-สันเกี๋ยง ที่หลายหน่วยงานต่างยกให้เป็นชุมชนต้นแบบให้กับหลายๆ ที่ได้มาศึกษา และนำไปพัฒนา ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดจริงๆ"
นายบุญมา ฟองตา ผู้ใหญ่บ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยงกล่าวว่า งานวันนี้เป็นการทำพิธีเปิดและส่งมอบบ่อพวงสันเขา "แหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" ณ บ้านสันพัฒนา (ภายใต้โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง จากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง (บ่อพวงสันเขา) ที่ส่งมอบให้ชุมชนเสร็จสิ้นรวมทั้งหมด จำนวน 52 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ใช้น้ำทางการเกษตร จำนวน 1,450 ไร่) พร้อมทำพิธีเปิดและส่งมอบบ่อน้ำเย็นใหม่แหล่งใหม่ "แหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพตามวิถีชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" ณ บ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง บ่อน้ำเย็นใหม่นี้พัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อีกทั้งยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ รอบบริเวณบ่อพวงสันเขา และพาเยี่ยมชมความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ อาทิ การประกอบกิจการกลุ่มอาชีพโรงแปรรูปสุกร ฟาร์มสุกร ฟาร์มผัก ฟาร์มลำไย และวัดเหล่าป่าตาล เป็นต้น
นางสาวพัทธนันท์ พิทาคำ นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ด้วยพื้นที่ในอำเภอแม่แจ่มส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด ซึ่งหลักการแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งบ่อน้ำเย็นแม่ปาน-สันเกี๋ยง ที่นี้ถือเป็นตัวอย่างการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดเด่นการท่องเที่ยวของที่นี่เพราะจุดน้ำเป็นตราน้ำ หรือต้นน้ำของอำเภอแม่แจ่ม น้ำใสไหลเย็นตลอดปี เป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์ที่ไหลมาจากเทือกเขาดอยอินทนนท์ และด้วยพลังความสามัคคีของชุมชน ช่วยกันพัฒนาสถานที่นี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านลองมาสัมผัสสถานที่เที่ยวแห่งใหม่ บ่อน้ำเย็นแม่ปาน-สันเกี๋ยง
ความสำเร็จในวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต คือจุดกำเนิดของทุกสิ่งในวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฝายชะลอน้ำ "ฝายมีชีวิต" ตามแนวพระราชดำริ ก็เป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาและดูแลแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำใช้ทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และเป็นการยกระดับน้ำ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ชะลอน้ำมิให้กระแสน้ำไหลหลาก รวมไปถึงการสร้างบ่อพวงสันเขา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมภาคีเครือข่าย เราจะพัฒนาไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน และสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ได้อย่างสมดุลอย่างยั่งยืน