ปภ. เตือนง่วงหลับในอันตรายมากกว่าที่คิด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 23, 2008 07:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ขับขี่ควรระมัดระวังการหลับในขณะขับขี่ยานพาหนะ เพราะอาการง่วงนอนในขณะขับรถถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง พร้อมแนะผู้ขับขี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทและทำให้มีอาการง่วงนอน หากมีอาการง่วงนอนในขณะขับรถ ควรจอดพักในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ที่สำคัญ ง่วงไม่ขับอย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การหลับในขณะขับรถ หรือการง่วงแล้วขับ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล แม้ว่าการหลับในจะเป็นแค่เพียงการวูบหลับในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาทีก็ตาม และมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ก็เป็นอันตรายมากพอที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในขณะขับรถ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการง่วงแล้วขับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะให้ผู้ขับขี่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยสัญญาณเตือนที่สังเกตได้ว่าจะเกิดอาการหลับใน ได้แก่ อาการหาวบ่อยและ หาวต่อเนื่อง ใจลอยไม่มีสมาธิ รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิดและกระวนกระวาย เกิดอาการมึน ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัดและหนักศีรษะ เพื่อไม่ให้เกิดอาการหลับในขณะขับขี่ยานพาหนะ ก่อนออกเดินทางผู้ขับขี่ ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 — 9 ชั่วโมง เนื่องจากหากร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียสะสม ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงมากขึ้นได้ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการกินยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ กดประสาทและทำให้มีอาการง่วงนอน เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัด ยาแก้ไอ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยากันชัก เป็นต้น ตลอดจนงดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากความง่วงเพียงเล็กน้อย กับแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหลับในได้มากขึ้น รวมทั้งควรวางแผนการเดินทาง เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทาง หากต้องเดินทางไกลควรมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อพูดคุยหรือผลัดเปลี่ยนกันขับรถ หากมีอาการง่วงนอนในขณะขับรถ ผู้ขับขี่ควรเปิดหน้าต่างรถ เพื่อถ่ายเทอากาศและให้ลมปะทะใบหน้า จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ในรถ และผ่อนคลายอาการง่วงนอน รวมทั้งเปิดเพลงดังๆ จังหวะเร็วๆ และร้องตามไปด้วย จะช่วยลดอาการ ง่วงนอนลงได้ หากมีอาการง่วงนอนมากจนไม่สามารถขับรถต่อไปได้ ควรหยุดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น จุดแวะพักริมทาง สถานีบริการน้ำมัน เพื่อพักหลับสักประมาณ 15 -20 นาที รับประทานของขบเคี้ยว หรือเครื่องดื่ม หรือเปลี่ยนอิริยาบถจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ที่สำคัญ ไม่ควรจอดพักบริเวณริมทาง หรือไหล่ทาง เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้โดยสารควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ขับขี่ หากมีอาการง่วงนอน ควรชวนพูดคุยหรือสลับเป็นคนขับแทน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหลับในขณะขับรถ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ