นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลของ กทม.ในการจัดบริการแผนกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ควบคู่กับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ว่า สนอ.ได้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ให้รับทราบแนวทางการจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ควบคู่กับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเดือน พ.ค. - ส.ค.2566 โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกันได้ โดยให้ฉีดที่แขนคนละข้าง หากฉีดไม่พร้อมกันสามารถฉีดเมื่อใดก็ได้ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ได้รับสิทธิในการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต้องเป็นประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป (5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) (6) โรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร และ (7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้ กทม.ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และประชาสัมพันธ์สร้างความความเข้าใจ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค