บริษัท เอสดับบลิวดี อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด หรือ SWD เผยกลยุทธ์การเป็นผู้นำธุรกิจพลอยเนื้อแข็งกว่า 40 ปี จากการรักษาคุณภาพสินค้า พร้อมปรับโครงสร้างพื้นฐานและนำเทคโนโลยีเข้าอัพเกรดธุรกิจให้ทันสมัยตามเทรนโลก ไปพร้อมกับกลยุทธ์ขับเคลื่อนการส่งออกด้วยการออกงานแสดงสินค้าใหญ่ทั้งไทย และต่างประเทศ เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำส่งออกพลอยของไทย ชี้ผู้ประกอบการต้องการความสนับสนุนภาษีแบบเหมาเพื่ออุดช่องโหว่จากสถานการณ์ขาดวัตถุดิบนำเข้า ให้ไทยยังคงรักษาความเป็นศูนย์กลางส่งออกพลอยสู่ตลาดโลก
นางสาวสุมิตรา ทศศิลาพร กรรมการบริหาร บริษัท เอสดับบลิวดี อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เผยว่า บริษัทฯ เริ่มต้นธุรกิจมากว่า 40 ปีก่อน โดยผู้ก่อตั้งบริษัทฯ คือ คุณวิโรฒ ทศศิลาพร ผู้เป็นบิดา และคุณสมชัย เลิศมณีแดง ผู้ก่อตั้งร่วม ได้เริ่มธุรกิจโดยการลงทุนซื้อพลอยที่ได้รับการเจียระไนแล้ว จากแหล่งพลอยที่จังหวัดจันทบุรีและนำมาจำหน่ายต่อ โดยคงจุดเด่นของบริษัทฯไว้ด้วยการรักษาคุณภาพของสินค้าให้อยู่ในระดับสูงอยู่เสมอ พลอยแต่ละเม็ดจะผ่านการปรับปรุงคุณภาพ-มีการจัดกลุ่มสินค้าอย่างดี ทำให้ง่ายต่อการนำไปขึ้นรูปผลิตเครื่องประดับ จนทำให้ชื่อของ SWD ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน
"ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีอาจไม่ใช่เหมืองที่สามารถขุดหาวัตถุดิบได้มากเหมือนในอดีต แต่ยังถือเป็นแหล่งรวมช่างฝีมือในการเผาและเจียระไนพลอยที่มีคุณภาพระดับโลก โดยบริษัทฯจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งกำเนิดพลอยชั้นนำ เช่น ศรีลังกา พม่า โมแซมบิค และส่งให้ช่างฝีมือผลิต จึงทำให้ SWD มีสินค้าหลักอย่าง Ruby, Blue Sapphire, Pink saphire และพลอยหลากสีสัน เช่น สีเขียว เหลือง ฟ้าอ่อน ชมพู ม่วงเรียกรวมเป็น Fancy Sapphire โดยที่ SWD จะขายต่อให้กับคู่ค้าโดยเฉพาะร้านจิวเวลรี่ที่เป็นสัดส่วนกว่า 90%"
สำหรับสัดส่วนการส่งออก SWD มีคู่ค้าในประเทศอยู่ที่สัดส่วน 30% และคู่ค้าต่างประเทศ 70% โดยลูกค้าหลักจะอยู่ในกลุ่มเอเชีย และยุโรป คือ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยที่บริษัทฯยังได้นำจุดแข็งของตัวเองมาใช้ในธุรกิจการส่งออก ด้วยการจัดกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้ซื้อในแต่ละพื้นที่ เช่น แถบเอเชียที่นิยมในพลอยแดง หรือแถบยุโรปที่เน้นใช้งานด้านแฟชั่นและนิยมใน Fancy Sapphire ซึ่งรูปแบบการทำตลาดต่างประเทศ นอกเหนือจากการรักษาฐานลูกค้าเก่าอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว SWD ยังมุ่งเน้นใช้แพลตฟอร์มงานแสดงสินค้าใหญ่ของอินโฟม่ามาร์เก็ตส์เป็นกลยุทธ์หลักในขับเคลื่อนธุรกิจอีกด้วย
โดยในทุกปี SWD จะมีการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ารวม 7 งาน ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ประเทศฮ่องกงสำหรับตลาดเอเชีย และในเมืองวิเซนซา ประเทศอิตาลี สำหรับตลาดฝั่งยุโรป รวมถึงในประเทศไทย โดยในปี 2566 นี้ บริษัทฯจะเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน "Jewellery & Gem ASEAN Bangkok 2023" (JGAB 2023) ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2566 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่ง นางสาวสุมิตรา ให้ความเห็นว่างานนี้จะเป็นการต่อยอดที่ดีหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มตัว รวมถึงชื่อของงาน JGAB ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล จะช่วยให้ผู้ซื้อเลือกเดินทางมาร่วมงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลดีกับบริษัทฯและผู้ประกอบการไทยรายอื่น ๆ
"เวลากว่า 2 ปี ในช่วงล็อคดาว์นจากสถานการณ์โควิด ต้นทุนราคาพลอยปรับสูงขึ้นสวนทางกับปริมาณการซื้อ ดังนั้น ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะใช้งานแสดงสินค้านี้พบปะผู้ซื้อจากไทยและต่างชาติเพื่อเจรจาธุรกิจและอัพเดทสถานการณ์รวมของอุตสาหกรรมในช่วงโควิตที่ผ่านมา"
นอกจากนี้ คุณสุมิตรายังให้ข้อมูลเพิ่มว่า แม้ผู้บริหารรุ่นบุกเบิกของ SWD ได้มีการวางพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแรงไว้อย่างมาก แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยหลายด้าน ทำให้บริษัทฯ มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 'หน้าร้าน' ที่ปรับเปลี่ยนลดความสำคัญของการตั้งโชว์สินค้าลง แต่เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแทนรวมถึงแพลตฟอร์มการจัดการระบบ เพื่อตอบโจทย์การติดต่อนัดหมายลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลของการปรับตัวนี้ ทำให้บริษัทฯสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงสถานการณ์โรคระบาด และสร้างรายได้เติบโตขึ้นอีก 30% หลังการเปิดประเทศ
นางสาวสุมิตรา กล่าวต่ออีกว่า มูลค่าการส่งออกธุรกิจอัญมณีไทยมีรายได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งหากนับเฉพาะตลาดพลอยในปี 2565 มีอัตราการขยายตัวมากขึ้นจากปี 2564 ถึง 69.15% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,181 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเมื่อเทียบกันในปริมาณการส่งออก ประเทศไทยถือเป็นผู้นำลำดับต้นของเอเชียจากจุดแข็งด้านการสร้างสรรค์งานคุณภาพสูง ทว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างศรีลังกา เราถือว่าเสียเปรียบที่ไม่มีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตัวเอง และเท่ากับว่าถ้าคู่แข่งพัฒนาฝีมือการเจียระไนได้ใกล้เคียงกับเราเมื่อไร การแข่งขันก็จะยิ่งยากและเสี่ยงต่อการเสียส่วนแบ่งในตลาดไปมากขึ้น
"แม้ในภาพรวมประเทศไทยจะยังเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง แต่ก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อหนีจากคู่แข่งที่เข้ามาในตลาด นอกจากนั้น ผู้ประกอบไทยยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการตกลงค่าภาษีแบบเหมา หรือ Carat Tax เพื่อทำให้การจัดการภาษีวัตถุดิบพลอยก้อนทำได้ง่ายขึ้น และช่วยผลักดันสร้างยอดการส่งออกให้สูงขึ้นเพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลางของพลอยเนื้อแข็งต่อไป" นางสาวสุมิตรา กล่าวทิ้งท้าย