"ซีเอ็มโอ" ประกาศความแข็งแกร่งในตลาดพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ เปิดแผนลุยเต็มสูบ ด้าน "ผู้บริหาร" เผย เทรนด์มิวเซียมยุคนี้ นำเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย บวกนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ เน้นสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วม ขานรับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน
นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 66 นี้ นอกจากการดำเนินธุรกิจครีเอทีฟอีเวนต์ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ และเทคโนโลยี บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าจะขยายธุรกิจในกลุ่มพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทฯ เป็นผู้นำและมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เห็นความสำคัญของการทำพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าที่มีประวัติศาสตร์ก่อตั้งมายาวนาน นิยมที่จะทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว นำเสนอข้อมูล ผสมผสานไปกับเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ นับเป็นเครื่องมือการตลาดเข้ามาช่วยสร้างให้แบรนด์ดูน่าสนใจ เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ที่ชอบออกไปสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง ส่งผลให้มิวเซียมแนวดิจิทัลอาร์ต หรือที่มีเทคนิค Interactive ลูกเล่นต่างๆ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
"โดยจุดเด่นของ CMO แตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันอยู่ที่การผสมผสานเทคโนโลยีกับความเข้าใจในเนื้อหา ตลอดจนบริษัทฯ มีพันธมิตร ทั้งด้านอุปกรณ์จัดแสดงระบบภาพแสงเสียง ไปจนถึงการผลิตสื่อมัลติมีเดีย คิดสร้างสรรค์เทคนิคพิเศษต่างๆ มาใช้ในมิวเซียมให้มีความทันสมัยมากขึ้น เข้ากับยุคในปัจจุบันได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค RFID Card scan เพื่อเก็บบันทึกข้อมูล , การนำเสนอข้อมูลผสมผสานกับ Projection Mapping, การใช้เทคโนโลยี AR นำเสนอนิทรรศการ และ เทคนิคโฮโลแกรม เป็นต้น" นายกิติศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางสาววรรณา อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า ธุรกิจพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ นอกจากจะเป็นการให้ความรู้แล้ว ยังสามารถสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้คนที่มาชมได้อีกด้วย อาทิ ศูนย์การเรียนรู้โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ที่เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริง กระตุ้นให้ผู้ชมได้เข้าใจอาการของโรคหลอดเลือดสมองผ่านทางภาพยนตร์ 4 มิติ เรื่อง "inside the human's brain" ซึ่งเป็นการจำลองการเดินทางเข้าไปในหลอดเลือดสมองด้วยแว่น VR นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเกมส์เสริมความเข้าใจต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ของโรคสโตรก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้จริง
โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจทั้งจากบริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ตลอดจนหน่วยงานกองทัพไทย ให้ออกแบบและสร้างพิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้ อาทิเช่น ศูนย์การเรียนรู้โรคหลอดเลือดสมองศิริราช , นิทรรศการสืบสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นิทรรศการถอดรหัส มิวเซียมสยาม, พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ จ.อุดรธานี และ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม เป็นต้น