เบื้องหลังการทำงานที่ทุ่มเท แต่ขาดความเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย อาจตามมาด้วยอุบัติเหตุ และโรคภัยที่คอยคุกคามชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สิ่งตอบแทนที่ได้อาจไม่ได้มาจากการมีเงินทอง หรือปัจจัยต่างๆ ที่จะมาเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต แต่อาจกลายเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ต้องสูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งหมายถึงงบประมาณส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องสูญเสียตามไปด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมรินทร์ คงทวีเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก "ปัญหาการจัดการกากของเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน"
ซึ่งกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มีทั้ง "กากอุตสาหกรรมอันตราย" ซึ่งได้แก่ของเสียที่มีคุณสมบัติเป็นอันตราย หรือมีองค์ประกอบปนเปื้อนสารอันตราย เช่น สารไวไฟ สารกัดกร่อน และสารพิษ เป็นต้น และ "กากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย" ซึ่งได้แก่ของเสียที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นอันตราย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมรินทร์ คงทวีเลิศ มองว่า กากอุตสาหกรรมอันตรายกำจัดได้ยากกว่า และจะทำให้ผู้ประกอบการต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดมากขึ้นตามไปด้วย
ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากการนำกลับมาใช้ใหม่แล้ว ได้แก่ การเลือกใช้วัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงนอกจากจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดแล้ว ยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในอดีตที่มีการใช้ "แร่ใยหิน" มาทำฝ้าเพดานเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ทนความร้อน ทนไฟ และไม่นำไฟฟ้าแต่ในเวลาต่อมาพบว่า "แร่ใยหิน" เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปอด หรือมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาโดยองค์การสหประชาชาติ ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกหันมาใช้"ไฟเบอร์ซีเมนต์" ซึ่งทำมาจากซีเมนต์ผสมผสานกับเส้นใยเซลลูโลส รวมทั้งสารเติมแต่งต่างๆ ที่ช่วยทำให้เกิดความคงทนแข็งแรง ผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูป จึงทำให้ได้วัสดุใหม่ที่สามารถนำมาทดแทนการใช้แผ่นฝ้าที่ทำมาจากแร่ใยหินด้วยคุณสมบัติที่ไม่ด้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถทนต่อเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค อาทิ เชื้อรา และแบคทีเรียต่างๆ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนสารอันตรายที่จำเป็นต้องใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ สารกัมมันตรังสีที่ใช้กับเครื่องวัดความชื้น ความหนาแน่น หรือการไหลของของเหลวต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการจัดเก็บและทำลายด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถนำมาใช้ช่วยบริหารจัดการ และติดตามเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้
สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย คือความมั่นคงที่แท้จริงของชีวิต การกำจัดของเสียที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยนอกจากจะช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้แล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจที่มีต่อผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคได้ต่อไปอีกด้วย
นอกจากการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมโดยโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ในส่วนของประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพียงช่วยกัน "คัดแยกขยะ" เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่าขยะชิ้นใด ประเภทใดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือกำจัดทำลาย ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ต่อไปอีกด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210