เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด และจัดแสดงในงาน "The 48th International Exhibition of Inventions Geneva" โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมของประเทศ ที่ร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน สิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 48
โดยมี ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.สมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้บริหาร และคณะนักวิจัย 38 หน่วยงาน เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งการจัดงานจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26 - 30 เมษายน 2566 โดยภายในงานฯ มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการกว่า 1,000 ผลงาน จากนานาประเทศกว่า 40 ประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งในบทบาทและภารกิจที่สำคัญของ วช. คือการ ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจเสนอชื่อของประเทศไทย ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต่างประเทศในการเปิดรับสมัครพิจารณาคัดเลือกผ่านกระบวนการของ วช. และได้นำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติงาน "The 48th International Exhibition of Inventions Geneva" ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในการได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศและได้เผยแพร่ผลงาน รวมถึงได้แสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาชาวโลกในปีนี้ วช. ได้สนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย ด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จาก 38 หน่วยงาน มาร่วมนำเสนอ จำนวน 128 ผลงาน วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้แสดงศักยภาพของคนไทยที่มีความสามารถในด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นที่ไม่แพ้ชาติใดในเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาตินี้และเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับให้ผลผลิตจากงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ วช. ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงภายในงานดังกล่าว จำนวน 128 ผลงาน จาก 38 หน่วยงาน ทั้งในระดับเยาวชนและนักวิจัย นักประดิษฐ์ จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนพนมสารคาม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด บริษัท อาร์แอนด์ดี รีเสิร์ช อินโนเวชั่นแอนด์ ซัพพลาย จำกัด บริษัท ไอออนิค จำกัด บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท 7 ดราก้อน อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วินโดร์ วิว จำกัด และบริษัท เลนส์ แอนด์ สมาร์ทคลาสรูม จำกัด