บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นปกป้องทรัพยากรทางทะเล ผนึกพนักงานของซีพีเอฟทั่วประเทศ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ภาครัฐ และประชาสังคม เก็บขยะตามแนวฝั่งประเทศไทย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ ช่วยป้องกันขยะ 16,000 กิโลกรัม ไหลลงสู่มหาสมุทร ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทางทะเล สนับสนุนแนวทางของ Seafood Business for Ocean Stewardship หรือ SeaBOS ในการรักษาต้นทางความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ กล่าวว่า รายงาน SeaBOS Final Cleanup Data Report 2022 จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกโดย SeaBOS ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลและการประมงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมมือกับองค์กร Ocean Conservancy องค์กรประชาสังคมที่เน้นสร้างเครือข่ายจัดการขยะชายฝั่ง รวมถึงเครื่องมือการประมงที่ถูกทิ้ง สูญหาย หรือเป็นเศษซากอยู่ในทะเล และนำเข้าสู่กระบวนการจัดการหรือรีไซเคิลที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล โดยซีพีเอฟในฐานะองค์กรสมาชิกของ SeaBOS ประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมนำพนักงานและชุมชนกว่า 3,200 คน จัดกิจกรรมเก็บรวบรวมขยะชายฝั่งทั่วประเทศรวม 27 ครั้ง สามารถป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเลได้กว่า 16,000 กิโลกรัม หรือ 16 ตัน จากขยะ 17,500 กิโลกรัม หรือ 17.5 ตัน ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมจากสมาชิก SeaBOS ในประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคม 2564 ถึงพฤศจิกายน 2565
"ซีพีเอฟภูมิใจที่องค์กรระดับโลกอย่าง SeaBOS เห็นถึงความมุ่งมั่นของซีพีเอฟและประเทศไทยในการพิทักษ์ระบบนิเวศทางทะเล จากการบันทึกจำนวนอาสาสมัคร และปริมาณขยะได้สูงเป็นอันดับแรกของรายงาน สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนของประเทศไทยให้ความสำคัญกับแนวทางการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นระบบ สอดรับกับเป้าหมายของ SeaBOS ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนรุ่นลูกหลานของเรา" นายสัตวแพทย์สุจินต์ กล่าว
ซีพีเอฟมุ่งมั่นจัดการปัญหาขยะทะเลและปกป้องมหาสมุทร ภายใต้ โครงการ Restore the Ocean ร่วมพิทักษ์ทะเลโลก ซึ่งเป็นต้นทางของความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และมีการจัดการข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การจัดกิจกรรม "ขยะชายหาด" สร้างการมีส่วนร่วม และปลูกจิตสำนึกให้กับพนักงานของบริษัท ร่วมกับชุมชนทำความสะอาดชายหาดในบริเวณใกล้เคียงสถานประกอบการของซีพีเอฟอย่างสม่ำเสมอ และได้มีการต่อยอดกิจกรรมไปยังชุมชนใกล้เคียง เช่น กิจกรรม "กับดักขยะทะเล" ที่ได้ร่วมกับชุมชนบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง เก็บและคัดแยกขยะจากป่าชายเลน นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ กระถางต้นไม้
ซีพีเอฟยังได้ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะทะเล ตามหลักการ Circular Economy โดยนำขยะที่เก็บรวบรวมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และเพื่อเปลี่ยนขยะเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชน ผ่านโครงการ "เก็บขยะท่าเรือ" ร่วมส่งเสริมเรือประมงเก็บขยะในทะเลกลับสู่ฝั่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และร่วมกับศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (FLEC) ดำเนินโครงการ"ขยะดีมีค่า" ในรูปแบบธนาคารขยะ ส่งเสริมกลุ่มแรงงานประมงต่างชาติร่วมเก็บและคัดแยกขยะในชุมชนและชายฝั่ง สร้างรายได้ลดภาระค่าครองชีพของครอบครัวแรงงาน
"การดำเนินโครงการ Restore the Ocean ของซีพีเอฟให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้คนทั้งภายในองค์กร และในสังคมไทย ถึงความสำคัญของปัญหาขยะทะเล ปลูกจิตสำนึกรักทะเลนำไปสู่การร่วมกันลงมือทำ เพื่อสร้างทะเลที่สะอาด ปราศจากขยะ เป็นบ้านที่น่าอยู่ของสัตว์ทะเล นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลก" นายสัตวแพทย์สุจินต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในรายงาน SeaBOS Final Cleanup Data Report เป็นการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะชายฝั่งทะเล จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก โดยองค์กรสมาชิกของ SeaBOS ร่วมกับ Ocean Conservancy องค์กรภาคประชาสังคมที่สร้างเครือข่ายจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันขยะเหล่านี้ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล และสร้างความตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหาขยะในมหาสมุทรที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยข้อมูลที่บันทึกอย่างเป็นระบบจะช่วยนำไปสู่การหาแนวทางจัดการปัญหาขยะในท้องทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ จากรายงานมีการบันทึกจำนวนขยะชายฝั่งจาก 18 ประเทศทั่วโลก สามารถรวบรวมขยะชายฝั่งได้กว่า 45,000 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนัก 23 ตัน โดยขยะชายฝั่งที่พบได้มากที่สุดสามอันดับได้แก่ กล่องโฟม 6,248 ชิ้น ก้นบุหรี่ 5,141 ชิ้น และถุงพลาสติก 4,570 ชิ้น