วว. จับมือ ธกส. ผลักดันโครงการ "กล้วยทางเลือกเพื่อทางรอด" นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพส่งออกกล้วยหอมอุบลราชธานี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 27, 2023 14:33 —ThaiPR.net

วว. จับมือ ธกส. ผลักดันโครงการ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี นำเทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มผลผลิตกล้วยหอม พร้อมยกระดับคุณภาพการส่งออกตามปริมาณความต้องการของคู่ค้าประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แผนงานโครงการ "กล้วยทางเลือกเพื่อรอด" เพื่อส่งเสริมพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศนก. และนายจิรวัฒน์ วัฒนบุตร ผู้อำนวยการ กองบริการธุรกิจนวัตกรรม วว. ลงพื้นที่ร่วมกับผู้บริหารและทีมงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อร่วมกันให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์ม และกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่ อำเภอเดชอุดมและอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. ได้แก่ การลดต้นทุนการเพาะปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมีสั่งตัด การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชเพื่อการจัดการคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตกล้วยหอมให้ได้ปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก การทำกล้วยหอมต้นเตี้ยเพื่อลดความเสียหายจากวาตภัย และการใช้ชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช โดยในระหว่างการลงพื้นที่ดังกล่าว นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ธ.ก.ส. ได้เข้าร่วมประชุมทางไกลกับทีมงาน ธกส. ทีมผู้บริหาร/นักวิจัย วว. และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อติดตามผลการลงพื้นที่และแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการที่จะดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ 26 - 27 เมษายน 2566 ณ จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้ วว. และ ธกส. จะร่วมกันพัฒนาแผนงานโครงการ "กล้วยทางเลือกเพื่อทางรอด" และแนวทางการดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป เพื่อช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจและกลุ่มเกษตรกรสมาชิก สามารถเพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพให้สามารถส่งออกกล้วยหอมได้เพิ่มมากขึ้น ตามปริมาณความต้องการของคู่ค้าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มสามารถส่งออกได้เพียงร้อยละ 10 ของปริมาณความต้องการ

โดยการร่วมกันแก้ไขปัญหาการส่งออกกล้วยหอม เป็นการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง วว. และ ธกส. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในการผลิต การแปรรูป การตลาด และสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน ให้แก่เกษตรกร ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของ ธกส. ภายใต้โครงการการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการ เชิงพื้นที่ "แก้หนี้ แก้จน" ตามแนวทาง D&MBA : Design & Manage by Area เพื่อยกระดับรายได้และแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ