สำหรับผู้ที่ใฝ่ฝันอยากทำงานสายการโรงแรม การท่องเที่ยว และการบริการนั้น นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถ และทักษะภาคปฏิบัติแล้ว แน่นอนว่าการมีใจรักการบริการหรือที่เรียกว่า Service Mind นับเป็นคุณลักษณะสำคัญขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี
ดังนั้น วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาชั้นแนวหน้าของไทยด้านศิลปะการประกอบอาหาร การโรงแรม และการท่องเที่ยว ในเครือโรงแรมดุสิตธานี จึงมุ่งปลูกฝังให้นักศึกษามีใจทางด้านผ่านการฝึกฝนและบ่มเพาะในรูปแบบที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำความดีเพื่อสังคม และเมื่อไม่นานมานี้ สำนักประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยดุสิตธานี ก็ได้นำตัวแทนนักศึกษาจากโครงการ DTC Young Ambassador รวมกับนักศึกษาผู้มีจิตอาสาคนอื่นๆ ไปจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ เกี่ยวกับการเก็บรักษาวัตถุดิบและการถนอมอาหารอย่างถูกวิธี ให้แก่ชุมชนหัวตะเข้ ชุมชนและตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตลาดกระบัง ละแวกไม่ไกลจากวิทยาลัยดุสิตธานี ถนนศรีนครินทร์ มากนัก นับเป็นการตอบสนองแนวคิดด้านชุมชนสัมพันธ์ ด้วยการนำองค์ความรู้ของสถานศึกษาไปกระจายสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาและต่อยอดอย่างยั่งยืน
ก่อนจัดเวิร์กช็อป นักศึกษาวิทยาลัยดุสิตธานีได้ลงพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ ร่วมกับ อาจารย์ชยาวัฒ เกียรติกมลมาลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการประกอบอาหารและการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อศึกษาและเรียนรู้ปัญหาที่ชุมชนอยากแก้ไข ทำให้พบว่า มีวัตถุดิบบางอย่างได้แก่ ใบตอง มะพร้าว และกล้วย ที่ถึงแม้จะเป็นวัตถุดิบที่ชาวบ้านใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในชีวิตประจำวันและการค้าขาย แต่ก็ประสบปัญหาในการยืดอายุวัตถุดิบให้ยาวนาน นักศึกษาจึงได้กลับไปทดลองวิธีการต่างๆ จนพบว่า ขั้นตอนที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมากับที่นักศึกษาไปทดลองอาจดูคล้ายๆ กัน แต่รายละเอียดบางอย่างก็จะช่วยทำให้การถนอมวัตถุดิบดีขึ้น เช่น แทนที่จะนำใบตองมาผึ่งแล้วเก็บในตู้เย็นเลย ก็ควรใส่ถุงหิ้ว มัดปากถุงให้แน่น แล้วค่อยเก็บในตู้เย็น จะช่วยให้ใบตองคงความสดได้นานกว่า เป็นต้น
ทางด้าน นางสาวชนนพร ติปะตึง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร วิทยาลัยดุสิตธานี แกนนำจัดเวิร์กช็อปครั้งนี้เป็นตัวแทนเพื่อนๆ กล่าวถึงความรู้สึกว่า "ตอนแรกมีความรู้สึกกังวลนิดหน่อยกับการลงพื้นที่จริงครั้งแรก เพราะกลัวจะทำได้ไม่ดี สื่อสารไม่เข้าใจ แต่พอได้ทำจริงแล้วคิดว่า ผลออกมาดีกว่าที่คิด เนื่องจากเราเตรียมตัวมาอย่างดี อีกทั้งมีเพื่อนๆ คอยช่วยตลอด ทำให้งานออกมาราบรื่น นอกจากนี้ยังรู้สึกประทับใจชาวบ้านที่น่ารักและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ตอนบรรยายจึงรู้สึกเหมือนเป็นการบอกเล่า คุยเล่นๆ และแลกเปลี่ยนความรู้กับคุณยายมากกว่า ทุกท่านมีการโต้ตอบ ตั้งคำถาม และให้ความร่วมมือดีมากๆ จึงนับว่าทั้งสองฝ่ายต่างได้เปิดรับความรู้ใหม่ๆ และพร้อมลองปรับใช้วิธีที่ต่างจากเดิมค่ะ"
ขณะที่ คุณอำภา บุณยเกตุ หรือ "ป้าอ้อย หัวตะเข้" จากชุมชนคนรักหัวตะเข้ เผยความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับเยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานว่า "แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ก็สะท้อนถึง 'ใจ' ของอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยดุสิตธานี ที่รับฟังปัญหาของชุมชนแล้วนำไปทดลอง ตอนที่นักศึกษาเล่าว่าเอาวิธีการของชาวบ้านที่ยายๆ ป้าๆ ไปทดลองกันเป็นเดือนๆ เพื่อหาข้อสรุปกลับมาเล่าให้ป้าๆ ยายๆ ฟังต่ออีกทีนั้นมันดีต่อใจจริงๆ ค่ะ"
การร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนหัวตะเข้จึงไม่ใช่การที่นักศึกษานำความรู้จากการเรียนไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ของชาวบ้านก็จะเป็นช่วยเติมเต็มความรู้ให้แก่นักศึกษาด้วยเช่นกัน เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันระหว่างนักศึกษาและชุมชนหัวตะเข้มากกว่า
วิทยาลัยดุสิตธานีหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมเล็กๆ ครั้งนี้จะช่วยสร้างจิตสาธารณะและใจรักการบริการให้แก่นักศึกษา ทั้งยังจะสามารถนำองค์ความรู้ของวิทยาลัยไปพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ในมิติอื่นๆ ต่อไปในอนาคต