ไทยพลิกวิกฤติอาหารโลก ฝ่าปัจจัยลบ-เศรษฐกิจชะลอตัว ชิงโอกาสทองผู้ผลิตอาหารชั้นนำ เพิ่มมูลค่า..ชดเชยปริมาณส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 23, 2008 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ภาพรวมส่งออกอาหารของไทยช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 และแนวโน้ม 6 เดือนแรกของปียังไม่สดใส หลังประสบปัญหาหนักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การแข็งค่าของเงินบาท ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งจากราคาน้ำมัน วัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาแพง ไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกอาหารมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่มีมูลค่า 165,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 โดยหลายสินค้าเพิ่มขึ้นในแง่ราคาเป็นหลัก คาดว่าส่งออกอาหารไตรมาส 2 ของปีนี้ จะมีปริมาณ 6.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13.2 ขณะที่มีมูลค่า 154,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 โดยข้าวและน้ำตาลเป็นสินค้าสำคัญต่อการลดลงของปริมาณส่งออก โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักทุกตลาดมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.7 ตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ส่วนตลาดรอง ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกประเทศ เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย ไต้หวัน แคนาดา และเกาหลีใต้ ขณะที่ตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย อาเซียน มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0
สถาบันอาหารชี้เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย เกษตรกรไทย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารชั้นนำของโลก ร่วมพลิกฟื้นอุตสาหกรรมอาหารป้อนตลาดต่อเนื่อง ในขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อาหารหนักในขณะนี้
การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะ อุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
ภาวะอุตสาหกรรมอาหารตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และแนวโน้ม 6 เดือนแรกของปี 2551 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มไม่สดใสนัก หลายอุตสาหกรรมชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากมีปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน โดยเฉพาะกำลังซื้อทั้งภายในและต่างประเทศที่หดตัวลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ในขณะที่ภาคการผลิตก็ประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน วัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อาหารอันเป็นผลมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสทองของไทยในฐานะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารชั้นนำของโลก ที่จะสามารถจำหน่ายอาหารด้วยราคาที่สูงขึ้นและเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า ชดเชยรายได้ที่หดหายไปอันเนื่องมาจากปริมาณส่งออกที่ลดลง ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรผู้เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารให้สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าอาหารจะยังมีราคาสูงต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย เพราะโลกยังอยู่ในช่วงขาดแคลนอาหารอันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทำให้หลายๆ ประเทศมีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นและไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ต้องซื้ออาหารในราคาแพง ต่อไป ดังนั้น หากภาคเกษตรกรรมของไทยซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ มีผลผลิตป้อนอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยมี แนวโน้มฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้
ขณะที่ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม 10 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเบียร์ สับปะรดกระป๋อง น้ำโซดา น้ำมันถั่วเหลืองดิบ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ อาหารไก่สำเร็จรูป ไอศกรีม น้ำตาลทรายดิบ ปลาหมึกแช่แข็ง และน้ำมันปาล์มดิบ
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม ก่อนจะปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 แต่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านๆ มา ถือว่าการนำเข้าในช่วงต้นปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2551 มีมูลค่านำเข้ารวม 39,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 และปี 2549 ร้อยละ 40.8 และ 56.6 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบ และสินค้าฟุ่มเฟือย โดยสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่สำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มธัญพืช (ถั่วลิสง) กลุ่มประมง (ทูน่าแช่แข็ง) และกลุ่มแป้งและสตาร์ซ (แป้งสาลี)
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์นั้น มีมูลค่ารวมกัน 109,208 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกสินค้าอาหารของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ของปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสองเดือนแรกของปี 2551 มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สินค้าสำคัญที่ทำให้ยอดส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ ข้าว มูลค่าส่งออกรวม 26,172 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 75.7 นอกจากนี้ ยังมีทูน่ากระป๋อง กุ้งแปรรูป ไก่แปรรูป น้ำตาล และสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และน้ำตาล เป็นต้น
ทั้งนี้ การส่งออกอาหารของไทยไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป , อาเซียน, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่า 58,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 แต่สัดส่วนส่งออกลดลงเหลือ ร้อยละ 53.5 จากร้อยละ 56.5 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2550 โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักทุกตลาดมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU 15) ที่มูลค่าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.7 ในขณะที่การส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดรองมีมูลค่า 11,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 แต่สัดส่วนส่งออกลดลงเหลือร้อยละ 10.9 จาก ร้อยละ 11.6 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2550 โดยการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดรองขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรเลีย ไต้หวัน แคนาดา และเกาหลีใต้ มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5, 5.9, 37.0, 10.2 และ 1.0 ตามลำดับ โดยตลาดไต้หวันที่การส่งออกขยายตัวสูงเป็นผลมาจากการส่งออกน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลัง เป็นหลัก
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดใหม่มีมูลค่า 38,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.5 จากร้อยละ 31.8 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2550 โดยการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดใหม่ที่ขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ แอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย อาเซียน (กัมพูชา พม่า เวียดนาม และลาว) และกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่สหภาพยุโรป (New EU 12) มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.4, 17.9, 33.4, 27.8 และ 23.2 ตามลำดับ ส่วนตลาดที่หดตัวลง ได้แก่ จีน และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ซึ่งมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 32.9 และ 23.3 ตามลำดับ
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : แผนกการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันอาหาร
คุณณัชชา บุญแสง
โทรศัพท์ 0 2886 8088 ต่อ 9205
หรือ สุขกมล งามสม 08 9484 9894
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2691 6302-4

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ