อนาคตของการจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นับตั้งแต่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2550 แต่ยังมีหลายสถานประกอบการอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการจ้างงานคนพิการเนื่องจากยังไม่เคยมีประสบการณ์จ้างงานคนพิการมาก่อน
รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล นักจิตบำบัดผู้ขับเคลื่อนสังคมสู่การทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการยอมรับและส่งเสริมจ้างงานคนพิการเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ
จนสามารถคว้า "ทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของมหาวิทยาลัยมหิดล" จากผลงานขับเคลื่อนสังคม "กลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม" ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็น "องค์กรต้นแบบ" แห่งการจ้างงานคนพิการที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย SDG 10 เพื่อความเท่าเทียม (Reduced Inequality) โดยได้มีการริเริ่มจ้างงานคนพิการให้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2550 ที่ได้มีการประกาศพ.ร.บ.
โดยกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นคนพิการได้มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วไป ทั้งการเลื่อนขั้นเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และก้าวหน้าทางวิชาชีพต่างๆ ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล มากกว่าพ.ร.บ.ที่กำหนดเทียบเท่าค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำทั่วไปตลอดจนปรับภูมิทัศน์เพื่อเอื้อต่อการทำงานของคนพิการมากขึ้นตามลำดับ ก่อนขยายผลสู่ชุมชนในเวลาต่อมา
โครงการนี้ได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด "การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม" ซึ่งคำนึงถึงความจำเป็นของคนพิการที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง ให้สามารถทำงานในชุมชนในฐานะผู้แทนของสถานประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการมากขึ้น
เพื่อการสร้างความเข้าใจอันดี และเสริมพลังองค์กรต่อไปในอนาคต จากโมเดลรูปแบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ที่ออกแบบขึ้นเพื่อจัดทำเป็นคู่มือสร้างความเข้าใจ และกลไกในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ เตรียมพร้อมสถานประกอบการซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับคนพิการเข้าทำงานมาก่อนได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ และจะขยายผลสู่ระดับนโยบายประเทศต่อไป
ด้วยความหวังที่จะทำให้ภาพของคนพิการในอดีตที่เคยถูกมองว่าเป็นภาระสังคม ได้เปลี่ยนแปลงสู่ภาพของ "ผู้มีพลังชีวิต" จากศักยภาพในการทำงาน ซึ่งสมควรได้รับสิทธิเท่าเทียมพลเมืองโลกทั่วไป รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร มองว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในสังคมจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมปกติ และพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวไปด้วยกัน
ในอนาคตเราอาจได้เห็น "เพื่อนผู้พิการ" เป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลือผู้อื่นในวันที่อ่อนล้า หากทุกคนในสังคมพร้อมเปิดใจร่วมฟันฝ่า สังคมไทยในอุดมคติที่เปี่ยมพลังคงอยู่ไม่ไกล ไม่ว่าโลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210