เมื่อต้องเจอกับ "ฝันร้าย" จนแทบสูญสิ้น "พลังทางกาย" โดยไม่รู้ตัว อย่าเพิ่งสิ้นหวัง หรือยอมแพ้ ตราบใดที่ยังมี "ลมหายใจ" ยังมีโอกาสพิสูจน์"พลังทางใจ" ได้เสมอ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.จตุพร สุทธิวงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัดระบบประสาท คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล เล่าจากประสบการณ์ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยผู้บาดเจ็บไขสันหลังในชุมชน จากกลุ่มตัวอย่างวัย 30 - 40 ปี จำนวน 130 ราย ที่ต้องประสบปัญหาในการเคลื่อนไหวจากอุบัติเหตุ
พบ "พลังทางใจ" จากการช่วยเหลือทางสังคม (Social Support) จากบุคคลรอบข้าง คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำนายการกลับไปมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้ป่วย จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ "Journal Rehabilitation Medicine"
ซึ่งสาเหตุการบาดเจ็บไขสันหลัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือTraumatic เกิดจากอุบัติเหตุ และ Non - Traumatic ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น เกิดจากการติดเชื้อ หรือมีเนื้องอกไปกดเบียดที่ไขสันหลัง เป็นต้น โดยอาการบาดเจ็บไขสันหลังหากเกิดขึ้นในระดับคอ จะทำให้แขนขาอ่อนแรง ในขณะที่หากเกิดขึ้นในระดับอก-เอว จะทำให้ขาอ่อนแรง แต่แขนยังมีแรงปกติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.จตุพร สุทธิวงษ์ กล่าวต่อไปว่าในการฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยต้องฝึกใช้ชีวิตบนรถเข็น ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลทั่วไปในสังคมได้อีกต่อไป
บนท้องถนนยังคงเปิดต้อนรับสมาชิกผู้บาดเจ็บไขสันหลังที่ถือใบขับขี่พร้อมใช้อุปกรณ์พิเศษในการขับรถยนต์ สถานที่ที่เคยไปก็ยังคงไปได้ เมื่อผ่านการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวได้จนเต็มศักยภาพ ร่วมกับการฝึกดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living) จนเกิดความชำนาญ และมั่นใจที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคม รวมทั้งสามารถสื่อสารเพื่อขอรับการช่วยเหลือทางกาย (Physical Support) ในกรณีที่จำเป็นได้
นอกจากนี้การช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การให้ความช่วยเหลือด้วยความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย (Mental Support) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน แต่การช่วยเหลือทั้งหมดนี้ควรอยู่บนพื้นฐาน "ถูกต้อง" "เหมาะสม" และ "พอดี" ทั้งตัวผู้ป่วย และผู้ช่วยเหลือ
แม้ในประเทศไทยอาจยังคงไม่สามารถให้การสนับสนุนระบบพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของผู้มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวางและสมบูรณ์เทียบเท่านานาประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในรั้วสถาบันอุดมศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันต้นแบบแห่งสุขภาวะ ถือเป็นแหล่งในการฝึก "ทักษะพื้นฐานสำคัญ" ในการฝึกนักศึกษาให้พร้อมทำความเข้าใจ สามารถฟื้นฟู ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นได้อย่างมีคุณภาพพร้อมทั้งส่งเสริมให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้คำปรึกษา บำบัด และฟื้นฟูผู้บาดเจ็บไขสันหลัง ในทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น. ติดต่อได้ที่โทร. 0-2441-4540 ต่อ 12 (ศาลายา) และ 0-2433-7098 (ปิ่นเกล้า)
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210