กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตระดับ “A” ให้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (โกลว์) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการยอมรับว่าสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าและให้บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่แน่นอนและเชื่อถือได้แก่ลูกค้า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่ม SUEZ ทั้งนี้ ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงแผนการขยายธุรกิจในช่วง 4 ปีข้างหน้าของบริษัท รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รอบใหม่และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนสม่ำเสมอของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาเป้าหมายทางการเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการเพิ่มภาระหนี้สินเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่าโกลว์ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจด้านพลังงาน ในปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของบริษัทประกอบด้วยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) 4 บริษัท และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer -- IPP) 1 บริษัทในประเทศไทย กลุ่มโกลว์ถือเป็นกลุ่ม SPP ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 995 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำ 967 ตันต่อชั่วโมง โดยมี บริษัท โกลว์ไอพีพี จำกัด (GIPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกดำเนินธุรกิจภายใต้โครงการ IPP รับผิดชอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 713 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดของกลุ่มโกลว์มี 1,708 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญา PPA อายุ 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในปริมาณรวม 76% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว โดยสัญญามีอายุคงเหลือสูงสุดประมาณ 14 ปี ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอ ในปี 2550 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าคิดเป็น 86% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จาก กฟผ. 70% และจากลูกค้าอุตสาหกรรม 30% ของรายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งหมด
ธุรกิจ SPP ของบริษัทซึ่งมีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าประเภทโรงงานปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง โรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ประกอบด้วยหน่วยผลิตจำนวน 20 หน่วยซึ่งเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้ระบบการจ่ายไฟฟ้าและไอน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ นอกจากนี้ โรงงานต่างๆ เหล่านี้ยังสนับสนุนซึ่งกันและกันบางส่วนโดยสามารถสำรองการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่กัน อีกทั้งโครงข่ายท่อไอน้ำยังสามารถลดความเสี่ยงจากกรณีการจ่ายน้ำถูกขัดจังหวะหรือกรณีการสูญเสียความดันจากสาเหตุที่บางหน่วยการผลิตไม่สามารถปฏิบัติการได้ตามปกติ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทคงอัตราความพร้อมจ่ายและความน่าเชื่อถือได้ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภายหลังจากที่โกลว์ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2548 การถือหุ้นของกลุ่ม SUEZ คงสัดส่วนอยู่ที่ 69% มาโดยตลอด SUEZ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการนานาชาติซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในปี 2550 SUEZ มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 55,269 เมกะวัตต์ และมีรายได้รวม 47,475 ล้านยูโร ซึ่งมาจากธุรกิจพลังงาน 74.7% โกลว์จัดเป็นส่วนหนึ่งของ SUEZ Energy International (SEI) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจของกลุ่ม SUEZ ที่ดูแลรับผิดชอบธุรกิจพลังงานในต่างประเทศภายนอกเขตยุโรป กลุ่ม SUEZ มีส่วนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาโดยตลอดผ่านการให้การสนับสนุนทั้งในด้านกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลประกอบการของบริษัทในปี 2550 เป็นที่น่าพอใจ บริษัทสามารถรักษาระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้อยู่ที่ 95.87% และของ GIPP อยู่ที่ 94.61% การหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโดยรวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ค่าอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของธุรกิจ SPP และ IPP ในปี 2550 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2549
ในปี 2550 บริษัทมีรายได้จากการขายลดลง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งส่งผลให้ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับทั้ง SPP และ IPP ลดลง ปริมาณการขายของ SPP ในปี 2550 เพิ่มขึ้น 2.84% แต่รายได้รวมเพิ่มขึ้นเพียง 1% ในขณะที่ GIPP มียอดขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ลดลง 2.87% เนื่องจากโรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องนาน 34 วันเพื่อการซ่อมบำรุง มีผลให้ยอดรายได้ลดลง 5.07% ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนรายได้จากการดำเนินงานต่อยอดขายลดลงจาก 27.01% ในปี 2549 เป็น 26.05% ในปี 2550 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจาก 45.92% ในปี 2549 เป็น 41.39% ในปี 2550 เนื่องจากภาระหนี้สินที่ลดลงตามตารางการชำระหนี้เป็นสำคัญ ซึ่งมีผลให้สภาพคล่องของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานปรับตัวลดลง 6% อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 34.20% ในปี 2549 เป็น 35.26% ในปี 2550 และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 7.04 เท่าเป็น 7.74 เท่า อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะปานกลางเนื่องจากแผนการกู้เงินในช่วง 4 ปีข้างหน้าในวงเงินประมาณ 33,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต