บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ("WHA Group") แจ้งงบผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 2,440.7 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 522.7 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,420.1 ล้านบาท และกำไรปกติ 505.0 ล้านบาท จาก 4 กลุ่มธุรกิจ รับอานิสงส์การย้ายฐานการผลิตของจีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ หนุนดีมานด์ของโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้งพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ด้านธุรกิจไฟฟ้า ฟื้นตัวโดดเด่นจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลง และค่า FT ปรับตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผลงวดปี 2565 เพิ่มเติมอีก 0.1003 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายเงินปันผล 25 พ.ค. นี้
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 /2566 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 2,440.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% และกำไรสุทธิ 522.7 ล้านบาท ลดลง 20.3% โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,420.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% และกำไรปกติ 505.0 ล้านบาท ลดลง 22.7% ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการจำหน่ายสินทรัพย์ประเภทดาต้าเซ็นเตอร์จากธุรกิจดิจิทัล จำนวน 345 ล้านบาท ซึ่งหากไม่นับรวมกำไรพิเศษดังกล่าวในไตรมาส 1/2565 กำไรปกติจะเพิ่มขึ้น 63.6% พร้อมกันนี้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท ได้รับการอนุมัติให้เข้าลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.สยามราชธานี (SO) สัดส่วน 20% มูลค่า 912 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้เล็งเห็น Synergy ที่เกิดจาก Ecosystem ที่ครบวงจรของบริษัทฯ และความเป็นผู้นำด้าน Outsourcing ของ SO ซึ่ง Synergy ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นรวมทั้งธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทฯ ขณะเดียวกัน ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในอนาคตตามภารกิจ Mission to the Sun ด้วยเช่นกัน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า การเติบโตของผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล โซลูชัน ทั้งในประเทศไทยและเวียดนามได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจโลจิสติกส์ ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2566 เติบโตอย่างโดดเด่น รับอานิสงส์จากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้สามารถลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูป เพิ่มสูงขึ้นจำนวน 64,228 ตารางเมตร พร้อมทั้งมีการทำสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม จำนวน 88,608 ตารางเมตร ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,771,151 ตารางเมตร และมีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) โดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 90.4 ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ในไตรมาส 1/ 2566 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 249.6 ล้านบาท
นอกจากนี้ หลังจากเปิดโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่รวมกว่า 400 ไร่ เฟส 1 ในปีที่ผ่านมา ได้การตอบรับที่ดีโดยมีกลุ่มลูกค้าสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าในกลุ่มผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) และผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเร่งดำเนินการพัฒนาโครงการในส่วนของเฟส 2 โดยปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจและมีการจองพื้นที่เช่าเข้ามาแล้วบางส่วน อาทิ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงลูกค้าผู้ผลิต/จำหน่ายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ เป็นต้น
อีกทั้ง โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ บางนา-ตราด กม. 23 (ขาเข้า) ที่แม้จะเพิ่งมีการเปิดตัวโครงการได้ไม่นาน แต่ด้วยทำเลที่ตั้งของโครงการที่มีศักยภาพ ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างมาก และขณะนี้มีลูกค้าจองและลงนามในสัญญาเช่าล่วงหน้าในการพัฒนา Showroom สำหรับแสดงสินค้าแบบ Built-to-Suit บนพื้นที่ของโครงการดังกล่าวไปแล้วอีกด้วย
ขณะเดียวกันในส่วนของธุรกิจ Office Solutions ปัจจุบันบริษัทฯ มีการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าสมัยใหม่ย่านใจกลางเมือง จำนวน 6 แห่ง บนพื้นที่รวมกว่า 120,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังได้มีการลงนามในสัญญากับผู้เช่าเพื่อพัฒนาโครงการ Medical Center แบบ Built-to-Suit บนพื้นที่กว่า 6,900 ตารางเมตร โดยล่าสุด บริษัท ดับบลิวเอชเอ เคดับบลิว อัลไลแอนซ์ จำกัด (WHAKW) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท และบริษัท โตเกียว ทาเทโมโนะ จำกัด (TTA) ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อลงทุนพัฒนาพื้นที่อาคารสำนักงานในประเทศไทย ภายใต้โครงการแรก "โครงการ WHAKW S25" บนถนนสุขุมวิท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2566
นอกจากนี้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ไดวะ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และบริษัท ไดวะ เฮ้าส์ กรุ๊ป ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาร้านค้าปลีกยูนิโคล่ โรดไซด์ ลาดกระบัง ซึ่งถือเป็นอาคารเพื่อการค้าปลีกแบบ Built-to-Suit บนพื้นที่ขนาด 1,019 ตารางเมตร ที่ถูกออกแบบให้ตอบสนองการใช้งานพื้นที่ได้อย่างลงตัว
ส่วนแผนการขายทรัพย์สิน และ/หรือสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART ในปี 2566 นั้น บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สิน คิดเป็นพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 142,000 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 3,566.5 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหน่วยกอง WHART เพื่อขออนุมัติในช่วงไตรมาสที่ 2/2566
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ณ สิ้น ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 487 ไร่ (ไทย 379 ไร่ / เวียดนาม 108 ไร่) และมียอดการเซ็น MOU รวม 753 ไร่ (ไทย 445 ไร่/เวียดนาม 308 ไร่) ส่งผลให้บริษัทฯรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1,052.5 ล้านบาท ถือว่าเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้จากการโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดรับกับภาพรวมของเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนของประเทศไทย ที่ได้รับอนานิสงส์จากกระแสการย้ายฐานการทุนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ รวมถึงการปฏิรูปการเมืองในจีน ที่ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกได้ปรับเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ หลากหลายอุตสาหกรรมจึงต่างต้องจัดระบบการผลิตครั้งใหญ่และทำให้ประเทศผู้ลงทุนหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ หันมาเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย ที่เป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคที่พร้อมรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรอการโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ในมือแล้วกว่า 675 ไร่
"ปัจจุบัน WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 11 แห่ง ซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (1,280 ไร่) ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และยังมีนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 (1,100 ไร่) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (2,400 ไร่) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 จำนวน 630 ไร่ และได้มีการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เพิ่มขึ้นจำนวน 460 ไร่ ซึ่งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในแต่ละทำเลนั้นได้รับความสนใจจากลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มลูกค้าผู้ผลิตวัสดุแพคเกจและบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตรและอุปกรณ์ขนย้ายดินคุณภาพสูง ที่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินและลงนามในสัญญาเช่าโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ไปแล้วบางส่วน"
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นขยายนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ณ ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 108 ไร่ และยอดการเซ็น MOU รวม 308 ไร่ สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะขยายโครงการใหม่ในจังหวัดหลักๆ ของประเทศเวียดนาม อีก 2 โครงการ รวมเป็นพื้นที่ 20,950 ไร่ (3,350 เฮกตาร์) สำหรับเขตอุตสาหกรรมที่ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน1-เหงะอาน เฟส 1 ขนาด 900 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขายพื้นที่เขตอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การแปรรูปอาหาร วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปแล้วกว่าร้อยละ 77 ของพื้นที่ในเฟส 1 ส่งผลให้บริษัทฯ จึงต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 บนพื้นที่ขนาด 2,215 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง และเริ่มเสนอโครงการต่อลูกค้าแล้วบางส่วน
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างขยายโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ ในจังหวัดหลักๆ ของเวียดนาม อีก 2 โครงการ ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนามเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง ได้แก่ เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ โดยกำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หรือต้นปี 2568 และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone - Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ในปี 2569 หรือ 2570 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนการลงทุนในระยะยาวของบริษัทฯ ในอนาคต
ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) มีการรับรู้รายได้ในไตรมาส 1/2566 จากธุรกิจสาธารณูปโภครวม เท่ากับ 643.3 ล้านบาท และมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมดในประเทศไทยและต่างประเทศรวม 35 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นสัดส่วนปริมาณยอดจำหน่ายน้ำในประเทศเท่ากับ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และยอดจำหน่ายน้ำในต่างประเทศเท่ากับ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้แม้ว่าปริมาณยอดจำหน่ายน้ำในประเทศ มีการชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการปิดซ่อมบำรุงและการหยุดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial/Maintenance Shutdown) ของลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีบางราย กอปรกับการดำเนินการที่ยังไม่เต็มกำลังการผลิตของลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากต้นทุนก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวลงในช่วงกลางปี ก็คาดว่าลูกค้ากลุ่มนี้ จะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มกำลังการผลิตมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวสูงขึ้นของปริมาณยอดจำหน่ายน้ำดิบ (Raw Water) จำนวน 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Water) จำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของ Gulf TS 3 และ TS 4 ในปีที่ผ่านมา และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ปริมาณ 2.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี กับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE 4) ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ เริ่มก่อสร้างระบบผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมส่วนขยาย มีกำลังการผลิต 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE 4) และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งเริ่มก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำอุตสาหกรรม เพื่อส่งน้ำไปยังนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ในปริมาณการผลิต 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นได้ในไตรมาส 4/2566
ขณะที่ธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนาม ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณยอดจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้าโครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากการปรับขึ้นราคาค่าน้ำ ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ Doung River ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ คาดว่ายอดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำเสียมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 ที่ทยอยเปิดดำเนินการ ประกอบกับแผนขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 2 และเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ทัญฮว้า รวมถึง เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ กว๋างนาม
ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า ในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานและการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 1/2566 เท่ากับ 293.1 ล้านบาท โดยมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า (Ft) ในช่วงที่ผ่านมา และต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เริ่มปรับตัวลดลง สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP แม้โรงไฟฟ้า GHECO-One จะมีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงานในช่วงไตรมาสแรกก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้า IPP นั้นมีการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธุรกิจโซลาร์ ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เท่ากับ 110.7 ล้านบาท และได้ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 10 สัญญา ซึ่งเป็นโครงการ Private PPA ทั้งหมด คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีจำนวนสัญญา Private PPA สะสม 149 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ประมาณ 94 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 699 เมกะวัตต์ และ คาดว่าไตรมาส 2/2566 จะมีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมอีกประมาณ 20 เมกะวัตต์
และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed in Tariff ( FiT ) เฟส 1 สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการ Solar Farm ปกติ จำนวน 4 โครงการ และโครงการ Solar Farm ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) อีกจำนวน 1 โครงการ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2572-2573
"บริษัทฯ เดินหน้าขยายธุรกิจด้านพลังงานทั้งในประเทศไทย เวียดนาม พร้อมมองหาตลาดใหม่ ในประเทศอื่นๆ รวมถึงตั้งเป้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาโอกาสกับธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ไฮโดรเจน การซื้อขายคาร์บอนและการใช้และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซอร์ทิส เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด ภายใต้บริษัทร่วมทุน "RENEX TECHNOLOGY" เพื่อดำเนินการประกอบธุรกิจพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (Peer-to-Peer) หรือการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยไม่ผ่านคนกลาง โดยใช้ระบบ Two-Sided Bidding Algorithm รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกับผู้ใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงานบนแพลตฟอร์ม RENEX แล้วถึง 54 รายด้วยกัน"
ธุรกิจดิจิทัล ในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ ยังคงมุ่งทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company ตามเป้าหมายในปี 2567 โดยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรตั้งแต่การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ทรัพยากรบุคคล วัฒนธรรม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้มีศักยภาพสู่ยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และขยายฐานลูกค้ารายใหม่ไปพร้อมๆ กัน
พร้อมกันนี้ ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun หรือ MTTS ที่ได้นำเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือ SDGs ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งในการวางกลยุทธ์สำหรับพัฒนาโครงการ อาทิ โครงการ Circular ที่ส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน Ecosystem ของบริษัทฯ และโครงการ WHAbit ที่เป็นโซลูชันสำหรับดิจิทัลเฮลธ์แคร์ พร้อมด้วยฟีเจอร์การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) และคำแนะนำส่วนบุคคล รวมถึงยังมีโครงการ Meta W เมตาเวิร์สด้านอุตสาหกรรมรายแรกที่ได้รับการออกแบบเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า สร้างโอกาสใหม่ๆ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ สู่ยุคดิจิทัล อีกด้วย
ล่าสุด บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท ได้รับอนุมัติให้เข้าไปลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.สยามราชธานี หรือ SO จำนวน 111,597,905 ล้านหุ้น หรือ 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังการเพิ่มทุน โดยในการเข้าลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯ ได้เล็งเห็น Synergy ที่เกิดจาก Ecosystem ที่ครบวงจรของบริษัทฯ และความเป็นผู้นำด้าน Outsourcing ของ SO ซึ่ง Synergy ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมทั้งธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทฯ และสำหรับการพัฒนาธุรกิจในอนาคตตามภารกิจ MTTS อีกด้วย โดยความร่วมมือในเฟสแรก จะครอบคลุมถึง Center of Shared Services การขยายธุรกิจ Outsource ไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ, Workforce Excellence Academy การพัฒนาบุคลากรและแรงงานให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve, EV Fleet Rental and Management ซึ่งอยู่ในแผนการขยายธุรกิจ Green Logistics ของบริษัทฯ รวมถึง ESG และ Carbon Credit ที่เป็นการจัดการพื้นที่สีเขียวในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเพิ่มคาร์บอนเครดิต
จากความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตทางธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นศักยภาพความแข็งแกร่ง ทั้งด้านการบริหารงาน รวมถึงโครงสร้างทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลรวม สำหรับผลประกอบการปี 2565 ที่ 0.1672 บาทต่อหุ้น โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0669 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.1003 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะมีการขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2566 มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ หลังจากที่เปิดเสนอขายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ อันเป็นผลมาจากแผนการขยายธุรกิจที่มีความต่อเนื่องและชัดเจน สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินไปชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป