บมจ.เอเซีย พรีซิชั่น (APCS) โชว์ผลงานไตรมาส 1/66 กวาดกำไร 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 151% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อานิสงส์บุ๊กกำไรจากการตัดขายธุรกิจด้าน AUTO ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและก่อสร้าง (EPC) ส่งมอบงานตามนัด ฟาก "สุริยล อุดชาชน" กรรมการบริหาร ลั่นพร้อมลุยเต็มอัตราศึก ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างด้านพลังงานภาครัฐ แถมมีลุ้นได้งาน EPC เพิ่ม โชว์ Backlog หนากว่า 1.2 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ 1-2 ปี ปักธงปี 66 เข้าโหมดเติบโตรอบใหม่ รายได้ทะลุ 2 พันล้านบาท ตามนัด
นายสุริยล อุดชาชน กรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) (APCS) ดำเนินธุรกิจด้านงานรับเหมาก่อสร้างด้านพลังงานทุกประเภท เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย สำหรับงวด 3 เดือน (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566) มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62 ล้านบาท หรือ 151 % เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 40 ล้านบาท มีรายได้รวม 611 ล้านบาท ลดลง 197 ล้านบาท หรือ 24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 808 ล้านบาท
"กำไรที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1/66 เพราะมีการบุ๊กกำไรจากการตัดขายธุรกิจด้านผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนออโต้ในปีก่อน มาบุ๊คปีนี้ และก็มีรายรับจากธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและก่อสร้าง (EPC) ที่ส่งมอบเกือบ 400 ล้านบาท เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ"นายสุริยล กล่าว
นายสุริยล กล่าวว่า บริษัทฯ เร่งที่จะขยายงานด้าน EPC และมีเป้าหมายพัฒนาให้เติบโตขึ้น เพื่อสร้างรายได้และสร้างฐานการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เชื่อว่าการเติบโตของธุรกิจ EPC ยังมีสูงและต่อเนื่อง ภายใต้การขยายตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศ และต่างประเทศ โดยได้วางการเติบโตและการขยายงาน ทั้งงานประมูลภาครัฐ อย่างการรับงานธุรกิจสถานีไฟฟ้าแรงสูง งานธุรกิจโรงไฟฟ้าในรูปแบบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จากขยะมูลฝอยชุมชน โรงไฟฟ้าระบบชีวมวลและระบบชีวภาพ
กรรมการบริหาร APCS กล่าวอีกว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2566 ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 1,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า และอยู่ระหว่างประมูลงานใหม่ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะได้งาน EPC ในส่วนงานโรงไฟฟ้าเพิ่ม มูลค่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการรอประกาศอย่างเป็นทางการ ภายใต้บริษัท เอทู เทคโนโลยี จำกัด (เอทู)
นอกจากนี้ บริษัทฯจะเข้าไปมีส่วนร่วมการพัฒนา และได้งานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff ปี 2565 - 2573 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมถึงงานเอกชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานให้เติบโต