CIVIL เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 รายได้รวม 1,447.09 ล้านบาท กำไรสุทธิ 47.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.02% อัตรากำไรดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทิศทางธุรกิจไตรมาส 2/2566 คาดว่าจะสามารถเติม Backlog ได้เพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เร่งส่งมอบงานรับรู้รายได้ต่อเนื่อง ร่วมมือพันธมิตรขยายศักยภาพการเข้ารับงานทั้งภาครัฐและเอกชน มั่นใจ Backlog เติบโตตามเป้า 20,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นงานที่ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว และไม่ได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้ง
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้รวม 1,447.09 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,649.42 ล้านบาท จำนวน 202.33 ล้านบาท หรือลดลง 12.27% และ มีกำไรสุทธิ 47.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 40.32 ล้านบาท จำนวน 7.67 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.02%
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 64.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 48.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 15.82 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.69% และมีอัตรากำไรขั้นต้น 9.27% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 8.49% ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ รายได้ที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเป็นการรับรู้รายได้ในช่วงท้ายของงานก่อสร้างกลุ่มงานทางรถไฟ ส่งผลให้สัดส่วนงานในกลุ่มดังกล่าวลดลง แต่บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนโครงการในกลุ่มงานทางและทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจจำหน่ายหินผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นการดำเนินงานของบริษัทย่อย ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ บริษัทมีอัตรากำไรที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 จากความคืบหน้าการดำเนินงานทำให้สามารถทยอยรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้างได้เป็นปกติ อีกทั้งการจัดการต้นทุนก่อสร้างที่ดี และ การจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ดีขึ้น
สำหรับทิศทางธุรกิจไตรมาส 2/2566 คาดว่าจะมี New Backlog เข้ามาเติมเพิ่มขึ้นในราคาที่สะท้อนต้นทุนปัจจุบัน แนวโน้มดีขึ้นจากการดำเนินงานตามแผน โดยบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้างและบริหารต้นทุนให้มีความเหมาะสมกับสถานะการณ์ปัจจุบัน และ ส่งมอบงานเพื่อทยอยรับรู้รายได้ให้เป็นไปตามแผน ประกอบกับปัจจัยด้านแรงงานก่อสร้างที่สามารถเข้าดำเนินงานได้ปกติ
อีกทั้งบริษัทมีแผนร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ขยายศักยภาพการเข้ารับงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะมีการประมูลในอนาคต อาทิ งานประเภทงานก่อสร้างระบบชลประทาน, งานทาง, งานก่อสร้างทางรถไฟ และ งานก่อสร้างสนามบิน เพื่อเพิ่มมูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้แตะที่ระดับ 20,000 ล้านบาท