สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ร่วมงาน "มรณาครวิถี" งานเปิดตัวหนังสือชุดความรู้สังคมวิทยาการตาย ความตายและการจัดการหลังความตาย และประสบการณ์ขับเคลื่อนให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับความตายในสังคมไทย จัดโดยโครงการ คนเมือง 4.0 โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการเปิดพื้นที่ 'สรรค์เสวนา' พูดคุยเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้จากทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีเครือข่ายที่มีประสบการณ์ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม กลุ่ม Peaceful death ฯลฯ และพื้นที่ 'สานประสบการณ์' นำกิจกรรมมาให้ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ บอร์ดเกม Beware the Death สมุดเบาใจ เป็นต้น
คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า "สสส. ขับเคลื่อนเรื่องของการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญามาอย่างต่อเนื่อง การตายดี นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา สสส. มองภาพการขับเคลื่อนเรื่องการตายดีอย่างเป็นระบบ ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคคลให้มีความเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิตและความตาย มีภูมิคุ้มกันทางใจและเตรียมความพร้อมสู่การอยู่ดีตายดี การเตรียมปัจจัยแวดล้อม การสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง การสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการอยู่และตายดีให้กับสังคม รวมถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ไปจนถึงเรื่องของการผลักดันนโยบาย โดยอาศัยพลังของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และศาสนาธรรมเข้ามาช่วยกันเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อให้สังคมเปิดกว้างทางความคิดและเปิดรับความรู้ เกิดความตระหนักว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่เราควรเตรียมความพร้อมในคนทุกวัย"
รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้เขียนหนังสือชุดความรู้สังคมวิทยาการตาย กล่าวว่า "การศึกษาเรื่องความตายสามารถมองได้จากหลายมุม ทั้งศาสนา การแพทย์ กฎหมาย ฯลฯ แต่วันนี้เราหยิบประเด็นความตายมาพูดถึงในมุมของสังคมวิทยา เพื่อให้เกิดการถกเถียงถึงความหมายของความตาย เราคิดและให้คุณค่ากับชีวิตและความตายอย่างไร ไปจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิตที่เราเลือก หนังสือชุดนี้ประกอบด้วย 3 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 มรณาครวิถี เล่มที่ 2 ความหมายแห่งความตาย เล่มที่ 3 ร่าง (ศพ) ในสังคมร่วมสมัย เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสังคมวิทยา ให้เราได้กลับมาพิจารณามุมมองความตายกับสังคม การจัดการสถานที่ เวลา คุณภาพการตาย แบบไหนที่เรียกว่าตายดี รวมถึงสังคมควรจะมีส่วนอย่างไรเพื่อกำหนดการตายดีให้เกิดขึ้นได้จริง"
ด้าน คุณขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน ตัวแทนจากบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า "การขับเคลื่อนประเด็นการตายดีนั้นสิ่งสำคัญคือคนทุกคนในสังคมต้องร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เรามีองค์กรช่วยผลักดันเรื่องนโยบาย มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยหนุนเสริมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ในสังคม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแรงพลังจากทุกคนในสังคมที่ต้องช่วยกันสื่อสารเรื่องนี้ออกไป การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือการเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ตัวอย่างเช่นเรื่องของการเขียนสมุดเบาใจเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในช่วงสุดท้ายในชีวิตของเรา เราสามารถเริ่มลงมือทำได้จากตัวเราก่อน แล้วมันจะค่อย ๆ ขยายออกไปสู่ครอบครัวของเรา เพื่อนของเรา จนค่อย ๆ ขยายวงกว้างไปสู่สังคมวงกว้างได้ในที่สุด"