ผู้นำไอซีทีรุ่นใหม่ 200 ชีวิต ก้าวอย่างกล้าแกร่งไปด้วยกัน ทรู จัดเวิร์คช็อป "โครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ICT Talent ประจำปี 2566"พร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ
จากความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัลของทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในองค์กรเอกชนผู้ก่อตั้ง มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ผ่านการดำเนินโครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้ ICT Talent เป็นเสมือนครูผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที ให้คำแนะนำครูและเด็กในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี โดยปัจจุบัน มี ICT Talent ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมากว่า 2,000 คนแล้ว ดูแล 4,100 โรงเรียนทั่วประเทศ...ล่าสุด กลุ่มทรู โดย ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน (กลาง) กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี / หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความเป็นเลิศทางธุรกิจและการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ICT Talent ประจำปี 2566 เร่งให้ความรู้และเตรียมความพร้อม ICT Talent ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งในโอกาสนี้ นางกมลนันท์ โสภณพนิช (ที่ 6 จากซ้าย) ผู้อำนวยการด้านพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี / ทรูปลูกปัญญา ได้ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ความสำคัญของ SDGs กับการศึกษาไทย" สร้างแรงบันดาลใจ และขอบคุณเหล่า ICT Talent รวม 200 คน จากกลุ่มทรู และพันธมิตรที่ร่วมโครงการ ได้แก่ กลุ่มมิตรผล กลุ่มธุรกิจ ทีซีพี ธนาคารออมสิน และบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะก้าวต่อไปอย่างกล้าแกร่ง เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจให้คณะครูและนักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ได้ใช้สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับจัดการเรียนการสอนต่อไป
การอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วันเต็ม ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ ICT Talent ต้นแบบที่มีผลการปฏิบัติงานดีเยี่ยมและดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2565 พร้อมเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ. ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อะแฮพเพนเนอร์ จำกัด พิธีกรและผู้ผลิตรายการ ไอที 24 ชั่วโมง และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เสริมศักยภาพด้านความเป็นผู้นำ และทักษะด้าน ICT ที่ทันสมัย ทั้งการสื่อสารและการเป็นผู้นำเสนอ IA : Intelligence Augmentation เทรนด์ใหม่ของโลก รวมถึง AI กับการศึกษา วิทยาการคำนวณและ Coding นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Sustainable Development Goals (SDGs) เรียนรู้แนวทางการบูรณาการความรู้ SDGs เข้ากับการทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ICT Talent ของกลุ่มทรู ถือเป็นโมเดลต้นแบบให้ภาครัฐนำไปต่อยอดและขยายผลในวงกว้าง ซึ่ง ICT Talent มีบทบาทสำคัญในฐานะฟันเฟืองที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมการศึกษาไทย โดยจากผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่านักเรียนในโรงเรียนที่มี ICT Talent ดูแลมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี (ICT Literacy) สูงขึ้น ครูใช้เทคโนโลยีช่วยในการสอนมากขึ้นถึง 76% และครูมีความมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการสอนถึง 88%