"นะโมตัสสะคาเฟ่" น้ำทองสิกขาลัย วิทยาลัยศาสนศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นสถานที่สำหรับคนรุ่นใหม่ได้มีจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการดำเนินชีวิตที่สร้างสรรค์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา
อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแนวคิดของ "นะโมตัสสะคาเฟ่" ซึ่งจัดตั้งขึ้น ณ น้ำทองสิกขาลัย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนบรมราชชนนี ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
เดิม "น้ำทองสิกขาลัย" สร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของ "คุณน้ำทอง คุณวิศาล" และ "แพทย์หญิงอรวรรณ คุณวิศาล" ให้เป็นที่พำนักของนักศึกษาของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นพระภิกษุ สามเณร และนักศึกษาทั่วไป และเป็นสถานที่สำหรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องต่อการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ
ปัจจุบัน วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur Skills) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพร้อมแข่งขันในเวทีโลก
และเพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 3 ซึ่งว่าด้วยการมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ (Good Health & Well - Being) ข้อที่8 ที่ว่าด้วยการสร้างเศรษฐกิจ และการจ้างงาน (Decent Work and Economic Growth) และข้อที่ 11 ที่ว่าด้วยการสร้างความมั่นคงของเมืองและชุมชน (Sustainable Cities and Communities)
โดยมองว่า "ทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ" ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเริ่มต้นสู่ "การสร้างผลกำไรทางธุรกิจ" แต่คือ"หัวใจ" สู่ความสำเร็จในทุกวิชาชีพ ด้วยการฝึก "คิดแบบผู้ประกอบการ" จะทำให้เกิด "แรงบันดาลใจ" ในการทำทุกกิจการด้วยความตระหนักถึงการได้เป็น "ผู้ริเริ่มด้วยตัวเอง" จากการวางแผนด้วยมุมมองที่สร้างสรรค์ และครอบคลุมในทุกองค์ประกอบ
เช่นเดียวกับการทำให้ "นะโมตัสสะคาเฟ่" น้ำทองสิกขาลัยวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเวทีในการฝึกการบริหารจัดการของนักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ให้ได้ "ปฏิบัติจริง" เพื่อนำทักษะที่ได้ไป"สร้างงาน-สร้างอาชีพ" ด้วยตัวเอง
อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของงานเกิดขึ้นจากทีมงาน อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญนักศึกษาที่มาช่วยกัน และคณะทำงาน ได้ร่วมกันจุดประกายแนวคิดและผลักดันให้ "นะโมตัสสะคาเฟ่" เริ่มขึ้นได้จริง
และได้สร้างโอกาสให้นักศึกษา และพระภิกษุสามเณรได้ฝึกทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ฝึกทำงานร่วมกัน ฝึกวางกลยุทธ์ ฝึกวางแผนประชาสัมพันธ์ ฝึกทักษะการสื่อสาร รวมถึงฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในแง่การเป็นผู้ประกอบการ และที่สำคัญได้ฝึกคิดว่าจะสร้างโมเดลธุรกิจอย่างไร ให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม
นอกจากนี้ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังทำให้ "นะโมตัสสะคาเฟ่" เป็น "คอมมูนิตี้แนวใหม่" ที่ทำให้"การสร้างสรรค์สิ่งดี" อยู่ในใจของทุกคน โดยไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในสถานที่เพื่อการประกอบพิธีกรรมของศาสนาหนึ่งศาสนาใด และเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่เพียงแค่การจำหน่ายเครื่องดื่ม อาหาร หรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แต่คือ "พลังของคนรุ่นใหม่" ที่พร้อมร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
นักศึกษาอาจได้ค้นพบว่า กิจกรรม "เพ้นท์กระเป๋า" "ทำเทียนเจล" "ทำพวงกุญแจ" สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเรียนอย่างทุ่มเท หรือทักษะที่ได้จากการทำกิจกรรม "ระบายสีปูนปั้น" หรือ "ระบายสีด้วยทราย" อาจนำไปถ่ายทอดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้คลายความทุกข์ใจจากอาการเจ็บป่วยได้
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการได้ฝึกอาชีพ หรือสร้างรายได้เสริมสำหรับนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชนทั่วไปในชุมชน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และพบกับวิทยากรที่พร้อมแวะเวียนเข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่า ที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ และร่วมเสวนาในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับจิตใจ ในบรรยากาศที่ร่มรื่นด้วยธรรมชาติ
มาร่วมกันตั้ง "นะโม" เพื่อการเริ่มต้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และสิ่งดีๆ ให้สังคมกับ "นะโมตัสสะคาเฟ่" น้ำทองสิกขาลัยวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนบรมราชชนนีตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมต่างๆ ของ "นะโมตัสสะคาเฟ่" ได้ที่ Facebook : Namotassa Cafe
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Cr: ภาพโดย นายเสริมวิทย์ มีขำ นักวิชาการศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล