ผศ.ดร.รวิภา อัครจินดานนท์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นำทีมคณาจารย์คณะบริหารธุรกิจ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฎิบัติการ ในโครงการ "Researcher as PEER REVIEWER"เพื่อพัฒนาศักยภาพคณาจารย์มุ่งสู่การพัฒนางานวิจัยและต่อยอดไปสู่ตำแหน่งทางวิชาการ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประกอบด้วย รศ.ดร.สุบิน ยุรรัช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและการประกันคุณภาพการศึกษา,ผศ.ดร.กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล หัวหน้าสาขาวิชาการบริหารและการจัดการสมัยใหม่ และ ผศ.ดร.ประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารและการจัดการสมัยใหม่ ร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนางานวิจัยเพื่อมุ่งไปสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ณ ห้องประชุมคณะบริหารธุรกิจ ชั้น 9 อาคาร 9 มหาวิทยาลัยศรีปทุม กทม.(บางเขน) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดย สาขาวิชาการบริหารและการจัดการสมัยใหม่ คณะบริหารธุรกิจ SPU
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประเสริฐ สิทธิจิรพัฒน์ ได้กล่าวว่า ตำแหน่งทางวิชาการถือเป็นความก้าวหน้าในวิชาชีพสำหรับอาจารย์ในสถาบันการศึกษา เป็นตัวชี้วัดอันดับของสถาบันการศึกษา และเป็นตัวชี้วัดการประกันการศึกษาของอุดมศึกษาไทยด้วย การขอตำแหน่งวิชาการจึงถือเป็นภารกิจสำคัญของอาจารย์ประจำทุกคน แต่ยังมีอาจารย์ไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจในกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการไม่เพียงพอ รวมทั้งมีอาจารย์ใหม่ที่ยังขาดการชี้แนะอย่างเพียงพอจากผู้เชี่ยวชาญ
อนึ่ง เกณฑ์ที่ใช้ในการเสนอขอพิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ บทความวิจัย ซึ่งเป็นบทความทางวิชาการที่ต้องการนำเสนอผลการศึกษา ค้นคว้าผลการศึกษาทดลอง ข้อค้นพบ ข้อเท็จจริง องค์ความรู้จากการวิจัย บทความวิจัยจึงเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิจัย หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ ความสามารถในการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยในศาสตร์ของตน โดยทั่วไปเมื่อผู้วิจัยทำงานแล้วเสร็จ จะเขียนรายงานวิจัยเป็นเล่มใหญ่เพื่อเผยแพร่ผลงาน แต่ผู้ที่จะอ่านรายงานการวิจัยเล่มใหญ่จะมีเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษาหรือผู้สนใจจริงเท่านั้น แต่การเผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปแบบของบทความวิจัยจะทำให้ผลงานวิจัยได้มีโอกาสเผยแพร่ได้กว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากผลงานวิจัยในรูปบทความจะมีความยาวไม่มากนัก การเรียบเรียง การเขียนจะสั้นกระทัด ได้ใจความ บทความจึงป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิจัยได้ดีมากช่องทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามการเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการตอบรับการตอบรับการตีพิมพ์เผยแพร่เสมอไป มีข้อพิจารณาหลักเกณฑ์ของวารสารวิชาการแต่ละแห่งแตกต่างกันบ้าง รวมทั้งความคิดเห็นและมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคนต่อบทความวิจัยแต่ละแห่งก็แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นในโครงการนี้จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความวิจัยกับผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย