ม.มหิดลเรียนรู้วัฒนธรรมจากอาหาร เพิ่มค่ามรดกสำรับครอบครัว

ข่าวทั่วไป Friday June 2, 2023 10:50 —ThaiPR.net

ม.มหิดลเรียนรู้วัฒนธรรมจากอาหาร เพิ่มค่ามรดกสำรับครอบครัว

เมนูอาหารที่สืบทอดกันมาของครอบครัว เมื่อเวลาผ่านไปอาจกลายเป็น "ขุมทอง" สร้างรายได้ เพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้รับผิดชอบรายวิชา "คติชนวิทยา" (Folklore) ของสาขาวิชาภาษาไทยที่ว่าด้วยการศึกษาวัฒนธรรมจากรากเหง้า ต่อยอดสู่รายวิชา "อาหารและวัฒนธรรม" ที่เปิดกว้างให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดลจากทุกคณะได้มีโอกาสลงทะเบียนเรียนร่วมกัน พร้อมขยายผลสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ MUx ของมหาวิทยาลัยมหิดลในอนาคต

เนื้อหาที่น่าสนใจของรายวิชาฯ ได้แก่ การบอกเล่าถึงที่มาของอาหารไทย ซึ่งอาจไม่ได้มาจากวัฒนธรรมไทยโดยตรงแต่เกิดจากการประยุกต์ดัดแปลงจนกลายมาเป็นอาหารไทยและเป็นที่นิยมจวบจนปัจจุบัน อาทิ ขนมที่น้อยคนนักจะทราบว่ามาจากวัฒนธรรมมลายู อย่างเช่นขนมชั้น และขนมสังขยาเป็นต้น และการเปิดโอกาสให้นักศึกษาในชั้นเรียนรู้จักกับอาหารไทยที่มีชื่อเรียกจากการสังเกตสิ่งรอบตัว อาทิ ขนมถั่วแปบ ที่มีชื่อเรียกจากการทำให้ขนมมีรูปร่างคล้ายฝักถั่วแปบและขนมกลีบลำดวน ที่มีชื่อและลักษณะตามดอกลำดวนเป็นต้น

เสน่ห์ของรายวิชา "อาหารและวัฒนธรรม" ที่ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้เรียนอยู่ที่ การเปิดกว้างทางความคิดโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้กลับไปลองรวบรวมสำรับอาหารของที่บ้านมาแลกเปลี่ยน "เคล็ดลับความอร่อย" กันในชั้นเรียน

รวมทั้งได้มีการเปิดมุมมองทางด้านอาหารที่เรียนรู้และเชื่อมโยงกับศาสตร์ด้านต่างๆ ตามความถนัดของนักศึกษาจากแต่ละคณะฯ อาทิ นักศึกษาจากคณะแพทย์เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาวะ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์เชื่อมโยงกับการสร้างนวัตกรรม และนักศึกษาศาสนศึกษา เชื่อมโยงกับมุมมองทางด้านศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกันไปตามหลักคำสอนของแต่ละศาสนา เป็นต้น รวมทั้งการได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมนอกห้องเรียน จากการลงพื้นที่จริงสัมผัสกับครัวไทยโบราณ และทดลองทำอาหารไทยพื้นบ้านด้วยตัวเองกับปราชญ์ชุมชนโดยตรง

ทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า "อาหาร" มีความเกี่ยวข้องกับ "วัฒนธรรม" หรือวิถีชีวิตของมนุษย์เพียงใด ซึ่งอาหารชนิดเดียวกัน อาจมีรสชาติที่ไม่เหมือนกัน แต่สามารถทำให้เกิด "ความแตกต่าง" ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหาความเป็นมาตรฐานของรสชาติ

ด้วยเคล็ดลับในการทำอาหารที่เป็นมรดกตกทอดกันมาของแต่ละครอบครัว อาจ "สร้างมูลค่า" ได้จากความสามารถในการสร้างสรรค์ทำให้อาหารชนิดเดียวกันมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันตามแบบฉบับของแต่ละครอบครัวต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจอาหาร ลดการนำเข้าและความนิยมอาหารจากต่างประเทศ ตลอดจนลดมลพิษซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยี โดยการหันมาทำอาหารแบบดั้งเดิมที่ไม่เบียดเบียนต่อสิ่งแวดล้อม

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ