เป็นเวลาเกือบครึ่งทศวรรษแล้วที่มีการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง(SMART Farmer) ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปีการศึกษา 2566 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และยังคงมุ่งมั่นสร้างกำลังคนให้กับภาคเกษตร ภายใต้แนวคิด " ผลิตได้-ขายเป็น-ปลอดภัย-ยั่งยืน
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงหลักสูตร SMART Farmer ซึ่งเป็นที่มาของ "MUNA Farm สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ที่นอกจากจะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติภาคสนามของนักศึกษาในหลักสูตรฯ แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบชุมชนเกษตรแนวใหม่ สู่การสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับสุขภาวะชุมชน
ปัจจุบัน MUNA Farm ได้ขยายศักยภาพการผลิตให้ครอบคลุมความต้องการของชุมชนเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น ผ่านการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัยจากโครงการฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและความปลอดภัย อาทิ"ไข่ไก่อารมณ์ดี" จากการเลี้ยงแบบอิสระด้วยพืชสมุนไพรใบเตยที่ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีกลิ่นหอม และได้ขยายผลสู่ "ไข่เป็ดอารมณ์ดี" ที่มั่นใจได้ถึงความสะอาด เปลือกไม่เปื้อนมูล และปราศจากกลิ่นคาว จากการทดลองใช้อาหารไก่และอาหารเป็ดสูตรผสมพืชสมุนไพรต่างๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งดีต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์
จากวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าหากได้นำพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมารับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายมนุษย์มีความแข็งแรงต่อสู้โรคได้ดีเพียงใด ในสัตว์ก็เช่นเดียวกัน จากที่ได้มีการให้อาหารที่มีส่วนผสมสมุนไพรฟ้าทะลายโจร พบว่าไก่จะไม่ป่วยง่าย และให้ผลผลิตที่ดี
นอกจากนี้ ทาง MUNA Farm ยังได้รับงบประมาณในการสร้างโรงเรือนปลูกพืชสมุนไพรท้องถิ่น อาทิ สะเดา แคป่าแจง ดองดึง ม้าห้อ ขมิ้น ไพล กะเพรา และฟ้าทะลายโจร โดยความร่วมมือทางวิชาการกับสภาการแพทย์แผนไทย และคลินิกแพทย์แผนไทย ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ เพื่อการผลิตพืชสมุนไพรที่สำคัญสำหรับรักษาผู้ป่วยต่อไปนอกจากนี้ MUNA Farm ยังมีแผนการผลิตพืชอาหารชนิดอื่นร่วมด้วย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านอาหารเป็นสำคัญ
อาจารย์ ดร.ณัฐฐิญา อัครวิวัฒน์ดำรง หัวหน้ากลุ่มวิชาการและหลักสูตร โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยแนวคิด "ผลิตได้-ขายเป็น-ปลอดภัย-ยั่งยืน" ของหลักสูตร SMART Farmer ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ของวิทยาเขตนครสวรรค์ นับเป็นการสนองยุทธศาสตร์ SDGs และ BCG ของชาติ โดยมีความโดดเด่นที่ไม่เพียงเน้นการใช้เทคโนโลยี แต่เน้นการสร้าง "ทุนมนุษย์" ให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเกษตรศาสตร์ มาใช้ในอาชีพ และมีmindset ของการเป็นผู้ประกอบการด้วย
โดยการพยายามตอบโจทย์ที่ท้าทายสังคมไทยในปัจจุบันว่าจะทำอย่างไรให้สามารถลบภาพเกษตรกรในความคิดของคนรุ่นใหม่ว่าเป็นเพียงอาชีพสร้างรายได้น้อย จนส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพอื่น ด้วยการปลูกฝังบัณฑิตหลักสูตรSMART Farmer ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกิดความสำนึกในแผ่นดินเกิด โดยใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาไปพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดรายได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเอง
ดังที่ได้ผลักดันให้บัณฑิตหลักสูตร SMART Farmer ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำproject ก่อนสำเร็จการศึกษา จนสามารถนำไปต่อยอดกิจการของครอบครัวตนเองต่อไปได้
ตัวอย่างผลงานโดยนักศึกษาหลักสูตร SMART Farmer โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้แก่ การพัฒนาวนเกษตรทุเรียนในสวนยางพารา มาทำปุ๋ยโดยผสมกับมูลสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตปุ๋ย
การนำดอกไม้ อาทิ กุหลาบ และมะลิ จากฟาร์มปลูกพืชแบบผสมผสานมาพัฒนาชาสูตรต่างๆ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค และการสร้างสรรค์ Plant-based burger จากถั่วเหลืองและเห็ดหลากหลายชนิด ซึ่งให้โปรตีนและมีไฟเบอร์สูง เป็นต้น
SMART Farmer โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล จะไม่ได้เป็นเพียง "เกษตรกร" แต่จะ"เป็นผู้ประกอบการเกษตรที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉม ให้ภาคเกษตรของไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" และจะสามารถนำองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เกษตรศาสตร์ และการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาวะ ตลอดจนสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง ครอบครัว และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนด้วยในขณะเดียวกันได้ต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210