นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ดับเพลิง กทม.ร้องเรียนเวลาการทำงานไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากลว่า การปฏิบัติงานของ สปภ.เป็นภารกิจที่ต้องมีผู้ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) เพื่อเฝ้าระวังเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดในวันและช่วงเวลาใด ซึ่งการกำหนดเวลาการปฏิบัติงาน 24 ชม. พัก 24 ชม.เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องตามมาตรฐานการปฏิบัติงานระงับเหตุอัคคีภัย หรือสาธารณภัย ตามแผนการปฏิบัติการดับเพลิงที่ทุกคนได้ศึกษาและเรียนรู้เป็นพื้นฐาน ซึ่งแต่ละครั้งเมื่อเกิดเหตุโดยเฉพาะอัคคีภัยต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานครั้งละ 15 - 20 คน ประกอบด้วย ทีมเผชิญเหตุ ทีมป้องกันการติดต่อลุกลาม ทีมความปลอดภัย ทีมค้นหาช่วยเหลือ ผู้ควบคุม รวมทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มาตรฐานขั้นพื้นฐานกำหนดให้ในแต่ละเหตุต้องมีอย่างน้อย ได้แก่ รถบรรทุกน้ำดับเพลิง รถดับเพลิง รถบันไดดับเพลิง และรถสนับสนุนอุปกรณ์เข้าปฏิบัติงาน โดยกรอบอัตรากำลังในสถานีดับเพลิงและกู้ภัยปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดับเพลิงและกู้ภัยอัตราเต็มจำนวน 42 อัตรา/สถานี เมื่ออ้างอิงกับมาตรฐานการปฏิบัติงาน จึงสามารถแบ่งกำลังการปฏิบัติงานได้เพียง 2 ชุดปฏิบัติการ ชุดละ 20 - 21 อัตรา เมื่อกำหนดได้เพียง 2 ผลัด จึงต้องปฏิบัติงานผลัดละ 24 ชม.เพื่อให้อีกผลัดที่ปฏิบัติงานแล้วได้พักเวร สลับหมุนเวียนกันไป
อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะไม่ได้หยุดในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เช่นข้าราชการทั่วไป แต่สามารถหยุด หรือพักได้ในวันรุ่งขึ้นทันทีหลังจากการปฏิบัติงานโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ ตลอดจนมีสิทธิในการลาต่าง ๆ เช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่น ๆ และยังได้สิทธิมากกว่าข้าราชการอื่นในเรื่องการลากิจ หรือลาพักผ่อน เช่น ลาพักผ่อน 1 วัน (ในวันที่ต้องเข้าเวร) หากได้รับอนุมัติให้ลาจะสามารถหยุดต่อเนื่องได้ถึง 3 วัน เนื่องจากคาบเกี่ยวกับวันพักด้วย ส่วนกรณีวันหยุดนักขัตฤกษ์เทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มีเหตุผลในการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาโดยใช้หลักการระดมกำลัง 100% ในช่วงเทศกาล ทำให้ไม่สามารถลาได้ เนื่องด้วยที่ผ่านมาในช่วงวันหยุดเทศกาล ประชาชนจะจัดกิจกรรมและเดินทางออกนอกพื้นที่จำนวนมาก ทำให้สถิติการเกิดสาธารณภัยสูงกว่าปกติโดยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมกำลัง 100% เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน สำหรับกรณีการกำหนดห้ามลาเกินกว่า 2 วันทำการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ สปภ.ลาหยุด 1 วัน จะได้หยุดงาน 3 วัน หากลา 2 วัน จะได้หยุดยาว 5 วัน หากไม่จำกัดการลา จะทำให้ขาดกำลังการปฏิบัติงานหากลาพร้อมกันหลายคน แต่ในประกาศได้กำหนดเพิ่มเติมว่า "ยกเว้นกรณีมีเหตุผลความจำเป็น" ซึ่งให้เป็นดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุญาตในการพิจารณาจากเหตุผลด้วย จึงมิได้เป็นการจำกัดที่ตายตัวและไม่มีเหตุผลรองรับแต่อย่างใด นอกจากวันพักเวรซึ่งได้หยุดแล้ว ข้าราชการทุกคนทุกหน่วยยังสามารถใช้สิทธิการลาพักผ่อนได้ตามปกติไม่ได้ยกเว้น หรือห้ามข้าราชการของ สปภ.ใช้สิทธิลาแต่อย่างใด หากต้องการวันหยุดเพิ่มจากปกติ สามารถใช้สิทธิลาหยุดประเภทต่าง ๆ ตามระเบียบของทางราชการได้ นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดับเพลิงและกู้ภัยทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขั้นพื้นฐาน จะได้รับสวัสดิการค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานกู้ภัยเป็นประจำเทียบกับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นสวัสดิการที่พิเศษกว่าหน่วยอื่นและสามารถชดเชยสิทธิกันได้
ทั้งนี้ สปภ.ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ บนพื้นฐานเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก รวมถึงหลักการแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานและสถานภาพอัตรากำลังในปัจจุบัน เพื่อให้ภารกิจการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความพร้อมสูงสุด โดยมิได้กำหนดให้เกินกว่าความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือเกินความจำเป็นแต่อย่างใด แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันการพัฒนางานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สปภ.ได้ดำเนินการเพื่อให้การเข้าถึงที่เกิดเหตุรวดเร็วที่สุดและเป็นไปตามมาตรฐาน 8 นาที ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติเพิ่มกรอบอัตรากำลัง และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน จะได้จัดประชุมชี้แจงหลักการและเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการให้แก่ข้าราชการในสังกัดทราบต่อไป
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงพัฒนาแนวทางการจ้างงานและระบบงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม.ว่า สำนักงาน ก.ก.ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องวันเวลาการทำงานของสถานีดับเพลิง และเสนอคณะอนุกรรมการ (อ.ก.ก.) วิสามัญเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลของ กทม. โดยมีมติที่ประชุมให้ปรับรูปแบบและเวลาทำงานตามมาตรฐานสากลที่นักดับเพลิงในต่างประเทศดำเนินการ และกำหนดสวัสดิการด้านที่พักอาศัยให้เพียงพอ ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พร้อมทั้งใช้การจ้างงานรูปแบบอื่น เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เช่น การดำเนินภารกิจสนับสนุน การรักษาความปลอดภัยของอาคารสถานที่ การทำความสะอาด เป็นต้น แต่ สปภ.ไม่สามารถดำเนินการตามมติ อ.ก.ก.ฯ ได้ เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณการจ้างงานรูปแบบอื่น และอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมาย เพื่อใช้ในการจ้างงานอาสาสมัคร ขณะเดียวกันได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาเรื่องการปรับชั่วโมงทำงานของ สปภ. ซึ่งมีความเห็นให้ใช้การทำงานแบบ 24 ชม. พัก 24 ชม. (วันเว้นวัน) เนื่องจากผู้บริหารหน่วยงานต้องการให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต่อวันอย่างน้อยร้อยละ 50 ของจำนวนคนทั้งหมด และให้มีจำนวนคนทำงานต่อวันอย่างน้อย 15 คน ซึ่งเป็นจำนวนคนที่คณะทำงานพิจารณาว่า เป็นขั้นต่ำที่สามารถปฏิบัติงานให้ลุล่วงได้ตามมาตรฐานที่ สปภ.กำหนด
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ก.ได้จัดประชุมหารือกับผู้บริหาร กทม.และ สปภ.เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้ออกแบบชั่วโมงการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ โดยกำหนด ให้มีวันหยุดที่เหมาะสม พร้อมทั้งจัดทำร่างประกาศ ก.ก.เกี่ยวกับเวลาทำงาน โดยกำหนดให้ข้าราชการ กทม.ที่ปฏิบัติงานที่มีลักษณะพิเศษที่จะเข้าทำงานและเลิกงานตามวันเวลาทำงานปกติ รวมถึงงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กำหนดวันเวลาทำงานปกติ ได้แก่ วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ตามช่วงเวลาของหน่วยงาน โดยจะต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชม.หรือสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 40 ชม.และมีวันหยุดราชการประจำสัปดาห์อย่างน้อย 2 วัน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานจัดทำคำสั่ง เพื่อกำหนดวันเวลาทำงานให้ชัดเจน โดยสำนักงาน ก.ก.จะเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้ ก.ก.พิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องการจ้างงานรูปแบบอื่น สปภ.อาจจะใช้การจ้างเหมาบริการรายบุคคล เพื่อสนับสนุนการให้บริการประชาชนในหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและจะขยายผลไปยังสถานีต่าง ๆ ต่อไป