- รองผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ เผยยอดขายเครื่องมือแพทย์ในไทยโต 7-8% ต่อปี มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 10% ต่อปี
- อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มูลค่าสูงและบริการทางการแพทย์ไม่ต่ำกว่า 20% เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
- Medlab Asia & Asia Health จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
กองควบคุมเครื่องมือแพทย์เผยประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับเครื่องมือแพทย์มูลค่าสูงในภูมิภาคเอเชีย งาน Medlab Asia & Asia Health Exclusive Networking Event จัดขึ้นเพื่องานแสดงเครื่องมือแพทย์และประชุมวิชาการนานาชาติ Medlab Asia & Asia Health ที่กำลังจะจัดขึ้นร่วมกับสมาคมศูนย์กลางงานปราศจากเชื้อแห่งประเทศไทย ที่ได้ลงนาม MOU ไปเมื่อเร็วๆ นี้
งานดังกล่าวจัดขึ้นโดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ร่วมกับ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด และในความร่วมมือของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดสำหรับเครื่องมือแพทย์คุณภาพสูง และเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรม ซึ่งเป็นธีมหลักของงานแสดงสินค้า Medlab Asia & Asia Health ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ภายในงาน ภก.นคร ตั้งวันเจริญชัย รองผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ไฮไลท์ศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย และความสำคัญของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุด โดยกล่าวว่า "อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7-8 ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9-10 ต่อปี"
"อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มูลค่าสูงและบริการทางการแพทย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และเพิ่มจำนวนผู้เข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแม้ในช่วงภาวะวิกฤต"
"นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2570 ซึ่งช่วงระยะเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเร่งสร้างแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และทดแทนการนำเข้า โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมของเครื่องมือแพทย์คุณภาพสูง อาทิ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เครื่องวินิจฉัยทางไฟฟ้าและรังสี IVD สำหรับโรคอุบัติใหม่ เครื่องมือแพทย์ด้านความงาม เฟอร์นิเจอร์ทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์สนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิก และ Internet of Medical Things (IoMT) เป็นต้น"
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์จำนวน 871 ราย โดย 10 ประเภทเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตมาที่สุด ได้แก่ น้ำยาหล่อลื่น แผ่นดูดซับ น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับเครื่องมือแพทย์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เลนส์แว่นตา ถุงยางอนามัย หน้ากากอนามัย พลาสเตอร์ปิดแผล เทปกาว และรถเข็นนั่ง สำหรับผู้ประกอบการที่นำเข้าเครื่องมือแพทย์ มีจำนวน 4,802 ราย โดย 10 ประเภทเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เลนส์แว่นตา เตียงพยาบาล บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อ เครื่องอัลตราซาวน์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จอภาพผู้ป่วยหลายพารามิเตอร์ เครื่องมือปลูกถ่ายอวัยวะเทียมทางออร์โธปิดิกส์ แผ่นทดสอบทางเคมีสำหรับการฆ่าเชื้อ ชุดสกัดสารพันธุกรรม และ IVF Medium (ข้อมูลอัปเดตล่าสุดจากฐานข้อมูลสำนักงานคณะกรรมารอาหารและยา ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566)
นายทอม โคลแมน ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า "ผู้เข้าเยี่ยมชมงานมากกว่า 7,000 ราย กว่า 50 ประเทศ และผู้แสดงสินค้ามากกว่า 500 ราย ที่ร่วมกันจัดแสดงเทคโนโลยีล้ำสมัยล่าสุด เปลี่ยนแปลงโลกของการดูแลสุขภาพ งาน Medlab Asia & Asia Health ร่วมมือกับ CSSA จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้ประกอบการร่วมธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาค"
"ผู้ที่เข้าร่วมงานจะมีโอกาสสำรวจผลิตภัณฑ์เฉพาะใน 6 กลุ่ม และเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมก่อนใคร ได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การถ่ายภาพและการวินิจฉัย ของใช้แล้วทิ้งและสินค้าอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพและบริการทั่วไป การแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการดูแลสุขภาพและการป้องกัน"
"ทั้งสองงานนี้เป็นเวทีสำหรับการอภิปรายระดับสูง ในขณะเดียวกันก็รักษาตำแหน่งของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนตลาดอุปกรณ์การแพทย์และภาคการดูแลสุขภาพของภูมิภาคต่อไป"
นอกจากนี้ นางนันทิภาสิ์ สิริจินดาดิรัชต์ นายกสมาคมศูนย์กลางงานปราศจากเชื้อแห่งประเทศไทย (CSSA) ยังได้กล่าวในงาน Networking โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำให้เครื่องมือทางการแพทย์ปราศจากการติดเชื้อ พร้อมทั้งมุ่งเน้นถึงความจำเป็นในการขนส่งและจัดหาเครื่องมือแพทย์อย่างปลอดภัย
นายลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ กล่าวว่า "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งรวมถึงการเกิดผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดนี้ ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพ
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพแบบดั้งเดิมไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการบริการด้านการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลและออนไลน์ โดยอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพได้ปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล AI และข้อมูลขนาดใหญ่ นวัตกรรมดิจิทัลเหล่านี้ได้นำเสนอระบบนิเวศใหม่ในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่ความสำคัญของการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายภายในอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพในระดับสากล เพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ"
Medlab Asia & Asia Health ที่จัดร่วมกับ CSSA จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคมนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้มีอิทธิพลในกลุ่มอุตสาหกรรม และผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น Randox Laboratories Ltd, Sansure Biotech, Autobio, GC Labs, Quotient และ Snibe เป็นต้น